ย่อสั้น พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

ย่อสั้น พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เป็นการย่อหลักกฎหมายสั้น ๆ ในแต่ละมาตรา โดยสามารถดูคำวินิจฉัยฉบับเต็ม/เอกสารที่อ้างอิงได้ที่ลิงก์ครับ (ซึ่งผมจะทยอยอัพเดตสม่ำเสมอนะครับ) 

***************
  มาตรา 19 บัญญัติว่า "ถ้าปรากฏภายหลังว่าเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือการแต่งตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นเหตุให้ผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งเช่นว่านี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการใดที่ผู้นั้นได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่" 

- เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนั้น ประกาศเลื่อนข้าราชการ ในขณะที่ยังไม่มีคำสั่งเพิกถอนให้พ้นจากตำแหน่ง การกระทำทางปกครองจึงมีผลต่อไปไม่ถูกกระทบกระเทือน ดังนั้น ประกาศเลื่อนข้าราชการจึงมีผลใช้ได้ ไม่เสียไป



  มาตรา 43 บัญญัติว่า "คำสั่งทางปกครองที่มีข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือผิดหลงเล็กน้อยนั้น เจ้าหน้าที่อาจแก้ไขเพิ่มเติมได้เสมอ
  ในการแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งทางปกครองตามวรรคหนึ่ง ให้แจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบตามควรแก่กรณี ในการนี้ เจ้าหน้าที่อาจเรียกให้ผู้ที่เกี่ยวข้องจัดส่งคำสั่งทางปกครอง เอกสารหรือวัตถุอื่นใดที่ได้จัดทำขึ้นเนื่องในการมีคำสั่งทางปกครองดังกล่าวมาเพื่อการแก้ไขเพิ่มเติมได้"

- ผู้รับมอบอำนาจให้ออกคำสั่งทางปกครองแทน ออกคำสั่งโดยไม่ระบุว่า "ปฏิบัติราชการแทน" ถือว่าเป็นการออกคำสั่งในฐานะผู้มอบอำนาจแล้ว เป็นเพียงข้อผิดพลาดเล็กน้อย ซึ่งเจ้าหน้าที่อาจแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องครบถ้วนได้ ไม่ทำให้คำสั่งทางปกครองต้องเสียไป 



  มาตรา 44 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 48 ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองใดไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรี และไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองไว้เป็นการเฉพาะ ให้คู่กรณีอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองนั้น โดยยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว
  คำอุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือโดยระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบด้วย
  การอุทธรณ์ไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง เว้นแต่จะมีการสั่งให้ทุเลาการบังคับตามมาตรา 63/2 วรรคหนึ่ง"


- คู่กรณีมีสิทธิถอนอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองได้ แม้ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติฯ จะไม่ได้บัญญัติไว้ แต่ก็ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้ถอนอุทธรณ์ โดยหากเป็นการถอนอุทธรณ์ในระหว่างการพิจารณาของเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ ย่อมทำให้การพิจารณาอุทธรณ์เป็นอันระงับ แต่หากถอนอุทธรณ์ภายหลังจากผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว ถือว่าล่วงพ้นขั้นตอนที่จะถอนอุทธรณ์ได้ หน่วยงานต้องสั่งไม่รับคำขอถอนอุทธรณ์
(คลิกอ่านฉบับเต็ม ความเห็นคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่องเสร็จที่ 319/2551)



  มาตรา 51 บัญญัติว่า "การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการให้เงิน หรือให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์ที่อาจแบ่งแยกได้ ให้คำนึงถึงความเชื่อโดยสุจริตของผู้รับประโยชน์ในความคงอยู่ของคำสั่งทางปกครองนั้นกับประโยชน์สาธารณะประกอบกัน
  ความเชื่อโดยสุจริตตามวรรคหนึ่ง จะได้รับความคุ้มครองต่อเมื่อผู้รับคำสั่งทางปกครองได้ใช้ประโยชน์อันเกิดจากคำสั่งทางปกครองหรือได้ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินไปแล้วโดยไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้หรือการเปลี่ยนแปลงจะทำให้ผู้นั้นต้องเสียหายเกินควรแก่กรณี
  ในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้รับคำสั่งทางปกครองจะอ้างความเชื่อโดยสุจริตไม่ได้
  (1) ผู้นั้นได้แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง หรือข่มขู่ หรือชักจูงใจโดยการให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์อื่นใดที่มิชอบด้วยกฎหมาย
  (2) ผู้นั้นได้ให้ข้อความซึ่งไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนในสาระสำคัญ
  (3) ผู้นั้นได้รู้ถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองในขณะได้รับคำสั่งทางปกครองหรือการไม่รู้นั้นเป็นไปโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
  ในกรณีที่เพิกถอนโดยให้มีผลย้อนหลัง การคืนเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ผู้รับคำสั่งทางปกครองได้ไป ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยถ้าเมื่อใดผู้รับคำสั่งทางปกครองได้รู้ถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองหรือควรได้รู้เช่นนั้นหากผู้นั้นมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ให้ถือว่าผู้นั้นตกอยู่ในฐานะไม่สุจริตตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นไป และในกรณีตามวรรคสาม ผู้นั้นต้องรับผิดในการคืนเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ได้รับไปเต็มจำนวน"

- ลูกจ้างชั่วคราวใช้วุฒิการศึกษาปลอมในการทำสัญญาเข้าทำงานกับหน่วยงานรัฐ เป็นสัญญาทางปกครอง มิใช่คำสั่งทางปกครอง ไม่อาจนำมาตรา 51 มาใช้เพิกถอนและเรียกเงินคืนได้ หากสัญญาสิ้นสุดลงตามสัญญาก่อนจะตรวจสอบพบว่าใช้วุฒิปลอมและสัญญายังไม่ถูกบอกล้าง จึงไม่อาจเรียกเงินที่ได้รับตามสัญญาได้
- ส่วนกรณีข้าราชการใช้วุฒิการศึกษาปลอม คำสั่งบรรจุเข้ารับราชการเป็นคำสั่งทางปกครอง ที่มีผลโดยตรงทางกฎหมายทำให้ได้รับเงินเดือน และเมื่อมีเหตุที่ต้องเพิกถอนและเรียกเงินคืน จึงอาจนำมาตรา 51 มาใช้บังคับได้ อย่างไรก็ตาม กรณีเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 67 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ บัญญัติยกเว้นไว้ชัดแจ้ง จึงไม่ต้องนำมาตรา 51 มาใช้บังคับอีก ดังนั้น จึงเรียกให้คืนเงินเดือนไม่ได้




  มาตรา 63/7 บัญญัติว่า "ในกรณีที่เจ้าหน้าที่มีคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงิน ถ้าถึงกำหนดแล้วไม่มีการชำระโดยถูกต้องครบถ้วน ให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองมีหนังสือเตือนให้ผู้นั้นชำระภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ถ้าไม่มีการปฏิบัติตามคำเตือน เจ้าหน้าที่มีอำนาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้นั้นและขายทอดตลาดเพื่อชำระเงินให้ครบถ้วนได้
  ในการใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามวรรคหนึ่ง ให้แต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับทางปกครองเพื่อดำเนินการยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินต่อไป
  เจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครอง และการแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับทางปกครอง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง"

- หน่วยงานทางปกครองที่ไม่สามารถแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับทางปกครองได้ เนื่องจากไม่มีเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมด้านการบังคับคดีจากกรมบังคับคดีหรือด้านการบังคับทางปกครองตามหลักสูตรที่คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองให้ความเห็นชอบ จึงไม่อาจยึด อายัดหรือขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้อยู่ในบังคับคำสั่งทางปกครองได้ ตามมาตรา 63/7 วรรคหนึ่งและวรรคสอง



  มาตรา 63/15 บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีการบังคับให้ชำระเงินและคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงินเป็นที่สุดแล้ว หากหน่วยงานของรัฐที่ออกคำสั่งให้ชำระเงินประสงค์ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีในสังกัดกรมบังคับคดีดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครองดังกล่าว ให้ยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลภายในสิบปีนับแต่วันที่คำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงินเป็นที่สุด เพื่อให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครองนั้น โดยระบุจำนวนเงินที่ผู้อยู่ในบังคับของมาตรการบังคับทางปกครองยังมิได้ชำระตามคำสั่งทางปกครอง ทั้งนี้ ไม่ว่าหน่วยงานของรัฐยังไม่ได้บังคับทางปกครองหรือได้ดำเนินการบังคับทางปกครองแล้ว แต่ยังไม่ได้รับชำระเงินหรือได้รับชำระเงินไม่ครบถ้วน
  เมื่อหน่วยงานของรัฐยื่นคำขอตามวรรคหนึ่ง ถ้าศาลเห็นว่าคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงินเป็นที่สุดแล้ว ให้ศาลออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบเพื่อดำเนินการต่อไป โดยให้ถือว่าหน่วยงานของรัฐที่ออกคำสั่งให้ชำระเงินเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และให้ถือว่าผู้อยู่ในบังคับของมาตรการบังคับทางปกครองเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
  เมื่อศาลออกหมายบังคับคดีแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐติดต่อกรมบังคับคดี พร้อมทั้งมีหนังสือแจ้งให้ผู้อยู่ในบังคับของมาตรการบังคับทางปกครองทราบว่าศาลได้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการบังคับคดีแล้ว
  เพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าศาลจังหวัด ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี หรือศาลแพ่งอื่นในกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี ที่ผู้อยู่ในบังคับของมาตรการบังคับทางปกครองมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือที่ทรัพย์สินที่ถูกบังคับทางปกครองนั้นตั้งอยู่ในเขตศาลมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาด หรือทำคำสั่งในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดี และเป็นศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี
  กรณีคำขอซึ่งอาจยื่นต่อศาลได้มากกว่าหนึ่งศาล ไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิลำเนาของผู้อยู่ในบังคับของมาตรการบังคับทางปกครองก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินที่ถูกบังคับทางปกครองก็ดี หรือเพราะมีผู้อยู่ในบังคับของมาตรการบังคับทางปกครองหลายคนในมูลหนี้ที่เกี่ยวข้องกันก็ดี จะยื่นคำขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นก็ได้
  หน่วยงานของรัฐตามมาตรานี้ หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่กำหนดในกฎกระทรวง"


- คำสั่งเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครอง เป็นคำสั่งทางปกครองที่ให้ชำระเงินซึ่งยังไม่เป็นที่สุด หน่วยงานของรัฐจึงไม่อาจขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีได้ (มาตรา 63/15 ประกอบมาตรา 63/8 วรรคสอง (3))
(คลิกอ่านฉบับเต็ม ความเห็นคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่องเสร็จที่ 967/2564)


  มาตรา 80 บัญญัติว่า "การประชุมให้เป็นไปตามระเบียบการที่คณะกรรมการกำหนด

  การนัดประชุมต้องทำเป็นหนังสือและแจ้งให้กรรมการทุกคนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน เว้นแต่กรรมการนั้นจะได้ทราบการบอกนัดในที่ประชุมแล้ว กรณีดังกล่าวนี้จะทำหนังสือแจ้งนัดเฉพาะกรรมการที่ไม่ได้มาประชุมก็ได้
  บทบัญญัติในวรรคสอง มิให้นำมาใช้บังคับในกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งประธานกรรมการจะนัดประชุมเป็นอย่างอื่นก็ได้"


- การแจ้งนัดประชุมคณะกรรมการ ต้องแจ้งให้ครบทุกคน การแจ้งไม่ครบทุกคน เป็นการตัดโอกาสกรรมการที่จะร่วมพิจารณา ถือเป็นเหตุบกพร่องที่กระทบกระเทือนต่อการแสดงเจตนาของกรรมการ (เป็นเหตุบกพร่องในขั้นตอนนัดประชุม) ส่วนจะมีผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของการประชุมและมติที่ประชุมหรือไม่ ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆ ไป



  มาตรา 84 บัญญัติว่า "คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ต้องมีลายมือชื่อของกรรมการที่วินิจฉัยเรื่องนั้น
  ถ้ากรรมการคนใดมีความเห็นแย้ง ให้มีสิทธิทำความเห็นแย้งของตนรวมไว้ในคำวินิจฉัยได้"

- คณะกรรมการมีมติให้ใช้ลายมือชื่อของกรรมการที่ชื่อในเอกสารเข้าร่วมประชุม เป็นการลงลายมือชื่อในคำวินิจฉัย ขัดต่อหลักการลงลายมือชื่อในคำวินิจฉัย เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากคำวินิจฉัยมีวัตถุประสงค์ให้กรรมการต้องรับผิดชอบต่อคำวินิจฉัยที่ตนได้ลงลายมือชื่อ ซึ่งจะเปิดเผยต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง กรรมการจึงต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้คำวินิจฉัยมีมาตรฐานและเป็นธรรม ทั้งยังเป็นกระบวนการตรวจสอบครั้งสุดท้ายว่าคำวินิจฉัยนั้นเป็นไปตามที่กรรมการได้ร่วมพิจารณาด้วยหรือไม่ (ต้องดำเนินการให้มีการลงลายมือชื่อของกรรมการที่ได้วินิจฉัยเรื่องแล้ว เพื่อให้สมบูรณ์ตามที่กฎหมายกำหนดต่อไปได้)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ การลาของข้าราชการ (ชุดที่ 2)