ลูกหนี้ผิดนัดตั้งแต่วันทำละเมิด (ป.พ.พ. มาตรา 206)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 บัญญัติว่า "ในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด"

คือ เมื่อลูกหนี้ได้ทำละเมิด (ป.พ.พ. มาตรา 420) ถือว่าหนี้ถึงกำหนดชำระ และลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดทันที (ตั้งแต่เวลาที่ทำละเมิด) ลูกหนี้จึงต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิด
  (มาตรา 420 บัญญัติว่า "ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น")

ตัวอย่าง 
- เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 ก. ขับรถชน ข. ถือว่า ก. ตกเป็นผู้ผิดนัด ต้องชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2565

- ฎ.2361/2515 (ประชุมใหญ่) การที่ศาลกำหนดจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนให้จำเลยชดใช้ในกรณีละเมิดนั้น มิใช่ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายตั้งแต่วันพิพากษา ศาลเป็นแต่กำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับความเสียหายมาแล้วตั้งแต่วันทำละเมิด และกฎหมายก็บัญญัติไว้ให้ถือว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันทำละเมิด จึงต้องเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ต้องชดใช้ตั้งแต่วันทำละเมิด การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินก้อน แม้จะขอค่าเสียหายที่คำนวณในอนาคตเข้ามาด้วย จำเลยก็ต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิด

- ฎ.379/2518 ค่าเสียหายฐานละเมิด เพราะต้องตัดขาพิการตลอดชีวิต เป็นค่าเสียหายซึ่งมิใช่ตัวเงิน ไม่ซ้ำกับค่าที่ไม่สามารถประกอบการงาน แม้เป็นค่าเสียหายในอนาคต ก็คิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันผิดนัดคือวันทำละเมิด

ตัวอย่าง นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด
- ฎ.7495/2555 จำเลยที่ 1 (ลูกจ้าง) ทำละเมิดต่อโจทก์ และได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้าง จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในทางการที่จ้าง (ป.พ.พ. มาตรา 425) จำเลยที่ 2 จึงอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 และได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดเช่นเดียวกัน จำเลยทั้งสองจึงต้องเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่จะต้องชดใช้ตั้งแต่วันทำละเมิด มิใช่นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
  (มาตรา 425 บัญญัติว่า "นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น")

ตัวอย่าง การคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมายใหม่
- ฎ.3578/2564 ดอกเบี้ยของค่าสินไหมทดแทนในส่วนความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดซึ่งเป็นหนี้เงินในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 และมาตรา 224 นั้น ปรากฏว่าได้มีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ 
  ศาลฎีกาจึงเห็นควรกำหนดดอกเบี้ยตามพระราชกำหนดดังกล่าว ...พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 18,330 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอ
  (มาตรา 7 บัญญัติว่า "ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กัน และมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี
  อัตราตามวรรคหนึ่ง อาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยปกติให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนทุกสามปี ให้ใกล้เคียงกับอัตราเฉลี่ยระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์")
  (มาตรา 224 บัญญัติว่า "หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น
  ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด
  การพิสูจน์ค่าเสียหายอย่างอื่นนอกจากนั้น ให้พิสูจน์ได้")

ที่มา ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 2)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)