ระยะเวลาการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม (ศาลชั้นต้น)

การกำหนดระยะเวลาการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรมเป็นไปตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการกำหนดระยะเวลาการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม พ.ศ. 2566 เว้นแต่มีกฎหมายกำหนดระยะเวลาไว้เป็นอย่างอื่น ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2566 เป็นต้นไป โดยในส่วนของศาลชั้นต้นมีสาระสำคัญ ดังนี้ 

เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการคดี ให้จำแนกลักษณะหรือประเภทคดีออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
(1) คดีจัดการพิเศษ คือ คดีลักษณะที่ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อนและมีแนวโน้มที่จะพิจารณาให้เสร็จได้ภายในนัดเดียว หรือในวันหนึ่งสามารถพิจารณาคดีให้แล้วเสร็จได้หลายคดี หรือสามารถส่งเอกสารแทนการสืบพยานได้ หรือคดีประเภทอื่นที่ผู้รับผิดชอบในราชการของศาลเห็นสมควรให้ดำเนินการอย่างคดีจัดการพิเศษ โดยศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จ ภายใน 6 เดือน นับแต่วันรับฟ้อง ดังนี้
  (ก) คดีแพ่ง
     1) คดีมโนสาเร่ คดีไม่มีข้อยุ่งยาก หรือคดีผู้บริโภค ไม่ว่าจำเลยจะยื่นคำให้การหรือไม่ก็ตาม
     2) คดีไม่มีข้อพิพาท เช่น ร้องขอจัดการมรดก ร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน เป็นต้น ไม่ว่าจะมีผู้คัดค้านหรือไม่ก็ตาม
     3) คดีจำเลยขาดนัด
     4) คดีสาขา เช่น ขอกันส่วน ร้องขัดทรัพย์ ขอเฉลี่ยทรัพย์ ขอรับชำระหนี้ บุริมสิทธิ เป็นต้น
     5) คดีสืบพยานประเด็น
  (ข) คดีอาญา
     1) คดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ หรือต้องสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพ
     2) คดีไต่สวนมูลฟ้อง
     3) คดีสาขา เช่น ร้องขอคืนของกลาง ผู้ประกันขอลดค่าปรับ เป็นต้น
     4) คดีสืบพยานประเด็น
(2) คดีสามัญ คือ คดีซึ่งต้องสืบพยานหลักฐานของคู่ความต่อไป และไม่สามารถนั่งพิจารณาคดีให้แล้วเสร็จได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว คดีที่ศาลสูงย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นสืบพยานและพิจารณาคดีใหม่ คดีอาญาจำเลยถอนคำให้การรับสารภาพเป็นการให้การปฏิเสธ หรือคดีประเภทอื่นที่ผู้รับผิดชอบในราชการของศาลเห็นสมควรให้ดำเนินการอย่างคดีสามัญ
(3) คดีสามัญพิเศษ คือ คดีสามัญที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ไม่สามารถนัดสืบพยานต่อเนื่องกันไปจนเสร็จ จำเป็นต้องกำหนดวันนัดสืบพยานต่อเนื่องเป็นช่วง ช่วงละ 2 ถึง 4 วัน เช่น คดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก มีการกระทำความผิดหลายกรรม ต้องใช้พยานหลักฐานจำนวนมาก คดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นต้น ทั้งนี้ ต้องได้รับอนุญาตจากผู้รับผิดชอบในราชการของศาล
คดีสามัญและคดีสามัญพิเศษ ศาลจะพิจารณาพิพากษาให้แล้วเสร็จ ภายใน 1 ปี นับแต่วันรับฟ้อง

คดีอาญาที่จำเลยคนใดคนหนึ่งต้องขังระหว่างพิจารณา ศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จ ภายใน 6 เดือน นับแต่วันออกหมายขังระหว่างพิจารณา 

คดีแพ่งและคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลแขวงไม่ว่าจะเป็นคดีประเภทใด ศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จ ภายใน 6 เดือน นับแต่วันรับฟ้อง

ระยะเวลาในการพิจารณาคำร้อง คำขอระหว่างการพิจารณาในศาลชั้นต้น
  1. คำร้องขอปล่อยชั่วคราวและการออกหมายปล่อย ศาลจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ได้รับคำร้อง
  2. คำร้องขอรับเงินต่าง ๆ คืนจากศาล ศาลจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง และดำเนินการจ่ายให้ผู้ที่มีสิทธิรับเงินภายใน 7 วันทำการ นับแต่วันที่ศาลสั่ง
  3. คำร้อง คำขออื่น ๆ ศาลจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับคำร้องหรือคำขอ

การพิจารณาพิพากษาคดีอาจล่าช้ากว่ากำหนดระยะเวลาข้างต้นได้ เนื่องจากการโอนสำนวนคดี การปรึกษาร่างคำพิพากษาตามระเบียบ การประชุมใหญ่ หรือความตกลงกันของคู่ความ เช่น การไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาท การรอฟังผลคดีอื่น หรือมีข้อขัดข้องอันเกิดจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือจากการดำเนินงานของหน่วยงานอื่นหรือบุคคลภายนอก เช่น การส่งหมายระหว่างประเทศ การทำแผนที่พิพาท การตรวจพิสูจน์พยานหลักฐาน หรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้

ประธานศาลฎีกา ประธานศาลชั้นอุทธรณ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรืออธิบดีผู้พิพากษาภาค อาจกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จในการพิจารณาพิพากษาคดีบางประเภทเป็นอย่างอื่นได้ ตามลักษณะ สภาพ ซึ่งต่างจากคดีทั่วไป เช่น มีคู่ความหรือพยานหลักฐานจำนวนมาก รวมทั้งปริมาณงานที่อยู่ในความรับผิดชอบ เว้นแต่มีกฎหมายกำหนดระยะเวลาไว้เป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ในกรณีของศาลอื่นนอกจากศาลฎีกา ให้รายงานประธานศาลฎีกาทราบ

ในกรณีที่การดำเนินงานไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถทราบเหตุแห่งความล่าช้าหรือตรวจสอบความคืบหน้าได้จากรายงานกระบวนพิจารณาของศาลในคดีนั้น โดยสอบถามได้ที่ศาล หรือทางโทรศัพท์ หรือทางระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (Court Integral Online Service : CIOS) หรือระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) หรือวิธีการอื่นใดในทำนองเดียวกัน ทั้งนี้ ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมกำหนด
(หากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นผู้ใช้ระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรมหรือระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ ถือว่าการที่ศาลนำข้อมูลเข้าสู่ระบบดังกล่าว เป็นการแจ้งให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 แล้ว)

ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือประชาชนสามารถตรวจสอบความคืบหน้าของการพิจารณาคดีได้ทางระบบติดตามสำนวนคดี (Tracking System) ทาง https://cios.coj.go.th/tracking/ หรือตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมกำหนด

ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลหรือสำนักงานประจำศาลของศาลที่พิจารณาคดี เป็นผู้รับผิดชอบในการรับเรื่องจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอันเนื่องมาจากความล่าช้าในการดำเนินการตามระเบียบนี้ ตรวจสอบความคืบหน้าของการดำเนินงานและแจ้งผลการตรวจสอบไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง พร้อมทั้งรายงานให้ผู้บังคับบัญชาและสำนักงานศาลยุติธรรมทราบด้วย

ดูเพิ่มเติม ระยะเวลาการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 5)