ฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ข้อพิพาทสำคัญเป็นเรื่องระหว่างเอกชนด้วยกัน อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม (คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 2/2568)

โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรม ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการให้กลับคืนดังเดิม และเพิกถอนการจดทะเบียนแปรสภาพ หจก. เป็น บจก.
โดยฟ้องนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเพชรบูรณ์ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามบทนิยามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

เมื่อพิจารณาเนื้อหาของคำฟ้องเป็นกรณีพิพาทระหว่างโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเอกชน โดยโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนาย ต. นำหนังสือมอบอำนาจของนาย ต. ที่ลงชื่อมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 แต่สิ้นผลแล้วเนื่องจากความตายของผู้มอบอำนาจ กรอกข้อความไปยื่นต่อจำเลยที่ 3 เพื่อให้ดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมผู้เป็นหุ้นส่วนและหุ้นส่วนผู้จัดการของ หจก. ต. มอเตอร์ จากนาย ต. เป็นจำเลยที่ 1 และจดทะเบียนแปรสภาพ หจก. เป็น บจก. โดยอ้างว่าผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนตกลงยินยอมให้แปรสภาพเป็น บจก. ซึ่งการรับจดทะเบียนของจำเลยที่ 3 เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำโดยไม่มีอำนาจ ทั้งนี้โดยโจทก์มีเจตนาให้สถานะของ หจก. ต. มอเตอร์ ผู้เป็นหุ้นส่วนและหุ้นส่วนผู้จัดการกลับคืนดังเดิม 
กรณีจึงเป็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน 

แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 3 เข้ามาในคดีนี้ด้วย ก็เนื่องจากจำเลยที่ 3 ดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมผู้เป็นหุ้นส่วนและหุ้นส่วนผู้จัดการของ หจก. ต. มอเตอร์ และการจดทะเบียนแปรสภาพ หจก. เป็น บจก. ตามคำขอของจำเลยที่ 1 และที่ 2 

ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาตามคำขอของโจทก์หรือไม่นั้น จำต้องพิจารณาข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นสำคัญ ทั้งข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์มิได้กล่าวอ้างความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการใช้อำนาจของจำเลยที่ 3 ว่ากระทำการโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ อันจะเข้าลักษณะเป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 

เมื่อคดีนี้ข้อพิพาทสำคัญเป็นกรณีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ที่มา ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา

ความคิดเห็น

10 บทความยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

ข้อกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา