สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ กฎหมายมรดก (ครั้งที่ 1)
สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ
กฎหมายมรดก (ครั้งที่ 1)
อาจารย์ธีรศักดิ์ เงยวิจิตร
วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม 2568
**********
1. ข้อสอบมรดกจะออกคู่กับครอบครัว นาน ๆ ทีจะออกมรดกอย่างเดียว
2. มรดกเป็นผลมาจากความตาย ถ้าไม่มีความตาย ไม่มีมรดกให้แบ่ง
-ความตายของบุคคล 2 กรณี 1.ตายโดยธรรมชาติ 2.ตายโดยผลของกฎหมาย
-ม.1599 วรรคหนึ่ง เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท
-ม.1602 วรรคหนึ่ง + ม.62 ตายโดยผลของกฎหมาย ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ และถือว่าถึงแก่ความตายเมื่อครบระยะเวลาตาม ม.61 (5ปี หรือ 2ปี แล้วแต่กรณี) มรดกตกแก่ทายาท
-ถ้าสิ่งที่ผู้ตายทิ้งไว้ไม่ใช่มรดก ไม่ต้องปรับใช้บรรพ 6 ทายาทโดยธรรมเข้าไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้
-ม.1600 กองมรดกของผู้ตาย ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิด สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้
1) ทรัพย์สิน ม.138
-เงินฌาปณกิจสงเคราะห์ , เงินสังขารานุเคราะห์ , เงิน ช.พ.ค. ของข้าราชการที่ตาย มีเงื่อนไขในการจ่ายต่อเมื่อข้าราชการตาย เงินดังกล่าวนี้ผู้ตายไม่ได้มีอยู่ก่อนหรือขณะตาย จึงไม่ใช่มรดก (หลักเกณฑ์การจ่ายเงิน ข้าราชการจะระบุชื่อคนที่มีสิทธิได้รับเงินไว้ล่วงหน้า) ทายาทโดยธรรมซึ่งไม่ใช่บุคคลที่ข้าราชการผู้ตายได้ระบุชื่อไว้นั้น ก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว
-เงินสะสมของลูกจ้าง หากเกษียณจะได้รับเงินดังกล่าว ลูกจ้างถึงแก่ความตายก่อนเกษียณ เงินดังกล่าวเป็นมรดก เพราะลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินนั้นอยู่แล้วในขณะตาย
*นักศึกษาจะต้องพิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายเงิน ถ้าจ่ายเพราะความตายไม่ใช่มรดก แต่ถ้าไม่ได้เอาความตายเป็นเกณฑ์การจ่าย ก็ถือเป็นมรดก
2) สิทธิ คือประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้ เช่น สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ สิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขาย เป็นสิทธิในทางทรัพย์สิน ไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัวของผู้ตาย จึงเป็นมรดก
3) หน้าที่และความรับผิด พูดง่าย ๆ คือหนี้
*ทรัพย์สิน สิทธิหน้าที่และความรับผิด จะต้องเป็นของผู้ตายหรือผู้ตายมีสิทธิอยู่ขณะตาย ถ้ามีสิทธิหลังตายไม่ใช่มรดก
4. ความรับผิดของทายาท ม.1601 ทายาทไม่ต้องรับผิดเกินทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน
-เจ้าหนี้ของเจ้ามรดก จะฟ้องทายาทคนใดคนหนึ่งก็ได้ ถ้ามีผู้จัดการมรดก ให้เจ้าหนี้เรียกเข้ามาในคดี ม.1737 เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องทายาทคนใดก็ได้ ทายาทจะอ้างว่าฟ้องไม่ได้เพราะไม่มีทรัพย์สินตกทอดแก่ตน เช่นนี้ไม่ได้ เพียงแต่ทายาทมีสิทธิต่อสู้ในชั้นบังคับคดีว่าตนไม่ได้รับทรัพย์สิน
5. ม.1600 ตอนท้าย เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ สิทธิและหน้าที่ความรับผิดนั้นไม่เป็นมรดก สิทธิหน้าที่ความรับผิดของผู้ตาย ก็ตายตามผู้ตายไปด้วย
*เฉพาะตัวตามกฎหมาย ดูไม่ยาก กฎหมายเขียนไว้ทำนองว่า โอนกันไม่ได้ ไม่ตกทายาท หรือระงับด้วยความตาย ก็ตอบได้ทันทีว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัวตามกฎหมาย เช่น
-สิทธิในการเรียนค่าทดแทนกรณีคู่หมั้นผิดสัญญาหมั้น ม.1440 (2) + ม.1447 วรรคสอง โอนแก่กันได้ แต่ ม.1440 (1) ไม่อาจโอนและไม่ตกทอดแก่ทายาท
-สิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิด เป็นสิทธิทางทรัพย์สิน เป็นตัวเงิน เป็นมรดก แต่ค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน ค่าทำขวัญ ค่าตกใจ ค่าทนทุกขเวทนา ไม่อาจโอนกันได้ ไม่ตกทอดทายาท ม.446
-ผู้ยืมใช้คงรูปตาย สัญญาระงับ ม.648
-ผู้ทรงสิทธิเก็บกินตาย สิทธินั้นสิ้นไป ม.1418 วรรคท้าย
***จบการบรรยาย***
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น