สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (ครั้งที่ 5)
สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ
กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (ครั้งที่ 5)
อาจารย์กำชัย จงจักรพันธ์
วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน 2568
**********
1. ใบตราส่ง คือ ใบรับของหรือใบรับสินค้า ความสำคัญจะมี 2 ประเด็นใหญ่ คือ
1.1) เรื่องปริมาณ จำนวน และน้ำหนักของสินค้า ถ้าระบุข้อความไว้แล้ว ก็เป็นไปตามนั้น เว้นแต่ผู้ขนส่งจะได้โต้แย้งโดยระบุไว้เป็นข้อสงวน ตามม.23 ถ้าไม่ระบุข้อสงวน ระหว่างผู้ขนส่งกับผู้ส่งของ ใบตราส่งก็จะเป็นพยานหลักฐานที่ผู้ส่งของไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ใด ๆ ผู้ขนส่งต้องนำสืบเอาเอง แต่ถ้าใบตราส่งอยู่ในมือของผู้รับตราส่งซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ม.25 ให้สันนิษฐานไว้โดยเด็ดขาดว่าผู้ขนส่งไม่สามารถโต้แย้งข้อมูลที่ระบุปริมาณ จำนวน และน้ำหนักของสินค้าได้
1.2) สภาพภายนอกของสินค้า โดยหลักกฎหมายสากล ถ้าเขียนว่าสินค้าเรียบร้อยดี หรือไม่เขียนข้อความว่าสินค้าแตกหัก ก็ต้องถือว่าสินค้านั้นเรียบร้อยดี ถ้าผู้ขนส่งไม่โต้แย้ง ไม่สงวนใด ๆ ไว้ ศาลก็จะถือว่าในใบตราส่งระบุสินค้าเรียบร้อยดี ผลทางกฎหมายระหว่างผู้ขนส่งกับผู้ส่งของและผู้รับตราส่ง ก็ต้องถือว่า สินค้านั้นเรียบร้อยดีทุกประการ หากพบว่าสินค้านั้นเสียหาย (ไม่ใช่เรื่องสูญหาย) ผู้ขนส่งต้องรับผิดตามม.39 และผู้ขนส่งมีภาระการพิสูจน์ว่าเหตุใดสินค้าจึงเสียหาย ม.24 ผู้ขนส่งจึงต้องบันทึกข้อสงวนไว้
-ในระหว่างผู้ขนส่งกับผู้ส่งของ ใบตราส่งเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเล
-แต่ถ้าใบตราส่ง ได้เปลี่ยนมือไปยังผู้รับตราส่งซึ่งเป็นบุคคลภายนอก กฎหมายจึงคุ้มครองถือว่า ใบตราส่งเป็นสัญญารับขนของทางทะเล ข้อตกลงหรือข้อสัญญาทั้งหลายที่จะผูกพันผู้รับตราส่งได้ จะต้องปรากฏในใบตราส่งเท่านั้น
-ม.26 "ในกรณีที่ได้ออกใบตราส่งให้แก่กันไว้ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ขนส่งกับผู้รับตราส่งในเรื่องทั้งหลายเกี่ยวกับการขนส่งของที่ระบุไว้ในใบตราส่งนั้น ให้เป็นไปตามข้อกำหนดในใบตราส่ง"
-เมื่อกฎหมายถือว่า ใบตราส่งเป็นสัญญารับขนของทางทะเล ผู้ขนส่งจึงไม่สามารถนำสืบให้เป็นอย่างอื่นต่างจากที่ระบุไว้ในใบตราส่ง
3. คุณสมบัติของใบตราส่ง ประการที่ 3 เป็นเอกสารสิทธิ์ (document of title)
-มีความเห็นทางกฎหมาย 3 ความเห็น (เพื่อให้นักศึกษาได้รู้ ไม่มีฎีกา) คือ (1) ผู้ที่มีชื่อเป็นผู้ทรงใบตราส่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสินค้าที่ระบุไว้ในใบตราส่ง , (2) ใบตราส่งโดยตัวของมันเองไม่เกี่ยวข้องกับกรรมสิทธิ์ จึงไม่ใช่เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด การโอนเปลี่ยนมือไปยังผู้ทรงใบตราส่งไม่ได้มีผลเกี่ยวข้องกับกรรมสิทธิ์ แต่ความหมายของเอกสารสิทธิ์ คือเอกสารแสดงสิทธิครอบครอง (ความเห็นของอาจารย์กำชัย) และ (3) ใบตราส่งเป็นทั้งเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครอง
3.1) การโอนใบตราส่งไปให้กับผู้รับโอนใบตราส่ง ไม่เกี่ยวข้องกับการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าที่ระบุในใบตราส่ง แต่การโอนใบตราส่งมีผลโดยตรงเป็นการโอนสิทธิครอบครอง คือ สิทธิที่จะได้รับมอบสินค้าจากผู้ขนส่ง เพราะสินค้าที่ระบุไว้ในใบตราส่งนั้น ได้เปลี่ยนการครอบครองจากผู้ขายสินค้าไปให้ผู้ขนส่ง ระหว่างที่รับมอบสินค้ามาอยู่ในความครอบครองแล้ว ผู้ขนส่งมีสิทธิครอบครองสินค้านั้น และเมื่อไปถึงท่าปลายทาง ผู้ขนส่งจึงมีหน้าที่ส่งมอบสินค้าให้กับผู้มีสิทธิได้รับสินค้า ก็คือการโอนสิทธิครอบครองจากผู้ขนส่งให้กับผู้ทรงใบตราส่ง โดยเหตุผลนี้ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ม.28 จึงวางหลักให้ผู้รับโอนใบตราส่ง จะรับสินค้าได้ต้องเวนคืนใบตราส่งให้กับผู้ขนส่ง (หลักกฎหมายสากล) "เมื่อได้ออกใบตราส่งให้แก่กันไว้แล้ว ผู้รับตราส่งจะเรียกให้ส่งมอบของได้ต่อเมื่อเวนคืนใบตราส่งนั้นแก่ผู้ขนส่งหรือให้ประกันตามควร"
3.2) ความหมายของเอกสารสิทธิ์ คือ สามารถโอนเปลี่ยนมือได้ และเป็นเอกสารแสดงสิทธิครอบครอง
-เอกสารที่จะเป็นใบตราส่ง ก็ต้องสามารถโอนเปลี่ยนมือได้
-วิธีการโอนเปลี่ยนมือ 3 วิธี (คล้าย ๆ กับเรื่องตั๋วเงิน) ถ้าใบตราส่งไม่ได้ระบุชื่อผู้รับตราส่ง ก็เป็นตั๋วผู้ถือ เปลี่ยนมือด้วยการส่งมอบ ใครครอบครองเอกสารก็เป็นผู้ทรงใบตราส่ง , โอนเปลี่ยนมือโดยระบุชื่อและสลักหลัง , โอนเปลี่ยนมือโดยไม่ระบุชื่อ
-เอกสารแสดงสิทธิครอบครอง ผู้ขนส่งออกใบตราส่ง ออกตามสัญญารับขนของทางทะเล ไม่เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในสินค้า ผู้ขนส่งไม่ดูว่าคนที่จ้างให้ขนส่งเป็นเจ้าของสินค้าหรือไม่ ผู้ขนส่งต้องการรู้ข้อมูลที่เกี่ยวกับหน้าที่ของเขาเท่านั้น คือ ของมีปริมาณ จำนวน เพื่อขนของไปให้ถึงปลายทาง ของต้องไม่สูญหาย ของต้องไม่เสียหาย สินค้าต้องไม่ล่าช้า ส่งมอบให้ถูกคน
4. ข้อเสียของใบตราส่ง (ที่เป็นเอกสารสิทธิ์) อาจเกิดกรณีฉ้อฉล หรืออาจเกิดกรณีไม่มีใบตราส่งไปเวนคืน (เพราะใบตราส่งไปถึงที่ปลายทางช้ากว่าเรือ หรือใบตราส่งหาย)
5. ชนิดของใบตราส่ง (ม.12 , 13 , 20) คือ ใบตราส่ง "ได้รับของไว้เพื่อรอการบรรทุก" กับ ใบตราส่งชนิด "บรรทุกแล้ว"
6. หน้าที่ของผู้ขนส่ง
6.1) หน้าที่ในการทำให้เรืออยู่ในสภาพที่พร้อมจะเผชิญภัยทางทะเล ม.8 , 9
6.2) หน้าที่ในการดูแลและจัดการเกี่ยวกับสินค้า ม.10
6.3) หน้าที่ในการไม่บรรทุกสินค้าบนปากระวาง ม.11
6.4) หน้าที่ในการออกใบตราส่ง ม.12
6.5) หน้าที่ในการบอกกล่าวแก่ผู้รับตราส่งเมื่อของไปถึงท่าปลายทาง ม.16
-ความจำเป็นที่ผู้รับตราส่งจะพิสูจน์ว่าผู้ขนส่งทำผิดหน้าที่จึงลดน้อยลงมาก ในภาพรวมอาศัยม.39 แต่เพียงอย่างเดียว ของไปอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งแล้ว ท่าต้นทางรับของไว้ปริมาณเท่าไร ของเรียบร้อยดีหรือไม่ ดูจากใบตราส่งได้เลยตามม.22 , 23 , 24 , 25 แต่เนื่องจากเวลามีน้อย จึงให้นักศึกษาโฟกัสที่ม.39 แทน
7. หลักในการพิจารณาความรับผิดของผู้ขนส่ง 3 ประการ *****ให้นักศึกษาใช้กรอบ 3 กรอบนี้ในการทำข้อสอบไม่พ้น 3 เรื่องนี้ จัดแบ่งกลุ่มคำพิพากษาฎีกา ใส่ตามหัวข้อ นักศึกษาก็จะใช้ทวนและทำข้อสอบได้ไม่ยาก
7.1) ให้ผู้ขนส่งรับผิดไว้ก่อน หากผู้รับตราส่งพิสูจน์ได้ว่าสินค้าสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า ในระหว่างที่ของหรือสินค้าอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่ง ม.39
-ใครคือผู้ขนส่ง เพราะเฉพาะผู้ขนส่งที่ต้องรับผิดตามพ.ร.บ.การรับขนฯ ม.3 นิยาม "ผู้ขนส่ง" "ผู้ขนส่งอื่น"
-ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนเรือ ไม่ใช่ผู้ขนส่ง แต่ตัวแทนเรือที่ทำการแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ อาจต้องรับผิดตามป.พ.พ. ม.824
-ดูให้ดีว่า อย่างไรเรียกว่าสินค้าสูญหาย เสียหาย ล่าช้า โจทก์ต้องพิสูจน์อะไรบ้าง
-สูญหายคือได้ไม่ครบ (ม.23 , 25) , เสียหายคือได้ครบแต่สินค้าแตกหัก เปียก (ม.24) , ชักช้า (ม.41)
-ฎ.3208/2552 , 2830/2554
-ผู้ขนส่งต้องส่งมอบสินค้าให้กับผู้มีสิทธิได้รับสินค้าด้วย ดังนี้ (1) กรณีที่ออกใบตราส่ง ผู้ขนส่งต้องส่งมอบสินค้าให้กับผู้รับตราส่งที่นำใบตราส่งมาเวนคืนเท่านั้น ม.3 , 28 , (2) กรณีที่มิได้ออกใบตราส่ง ผู้ขนส่งสามารถส่งมอบสินค้าให้กับผู้ที่ระบุชื่อไว้ในเอกสารการขนส่งโดยไม่ต้องเวนคืนเอกสารนั้น ม.3 , 28
-ถ้าผู้ขนส่งส่งมอบสิ้นค้าผิดคนจะอ้างข้อยกเว้นไม่ได้
-ของนั้นต้อง "อยู่ในความดูแลของผู้ขนส่ง" เริ่มต้นตั้งแต่ผู้ขนส่ง "ได้รับมอบสินค้า" ไว้จากผู้ส่งของ จนถึงเวลาที่ผู้ขนส่ง "ส่งมอบสินค้า" แล้ว ม.39-40
-"ได้รับมอบสินค้า" คือ ได้รับมอบจากผู้ส่งของหรือตัวแทนหรือจากเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายหรือกฎข้อบังคับ
-"ได้ส่งมอบสินค้า" คือ ได้ส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง หรือตัวแทน หรือเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายหรือกฎข้อบังคับ
7.2) ผู้ขนส่งอาจพ้นความรับผิดได้ด้วยการอ้างข้อยกเว้นความรับผิดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ม.51-57 หรืออ้างเหตุอื่นตามกฎหมาย เช่น ม.33-35 , 46
-ข้อยกเว้นความรับผิด เช่น ความแออัดของท่าเรือ ม.52(13) ฎ.4581/2552
-เหตุอื่นตามกฎหมาย เช่น ทรัพย์อันตราย ม.33-35 , คดีขาดอายุความ ม.46
-ฎ.115/2543
-ฎ.5970/2545
-ข้อจำกัดการอ้างข้อยกเว้นความรับผิด เช่น มีการบรรทุกของบนปากระวางโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ม.31 วรรคสี่
7.3) เมื่อผู้ขนส่งต้องรับผิด เพราะไม่สามารถอ้างข้อยกเว้นความรับผิดได้ ผู้ขนส่งยังอาจอ้างข้อจำกัดความรับผิดได้ ม.58-61
-กรณีสินค้าสูญหาย เสียหาย หนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง หรือ กิโลกรัมละสามสิบบาทต่อน้ำหนักสุทธิแห่งของนั้น (แล้วแต่เงินจำนวนใดจะมากกว่า)
-กรณีสินค้าส่งมอบชักช้า สองเท่าครึ่งของค่าระวางแห่งของเฉพาะที่ส่งมอบชักช้า แต่รวมกันต้องไม่เกินค่าระวางทั้งหมดตามสัญญารับขนของทางทางทะเล
-คำว่า "หน่วยการขนส่ง" มีคำพิพากษาฎีกา ต้องไปดู เช่น ฎ.4709/2542 , 9021/2543 , 961/2544
-ข้อจำกัดการอ้างข้อจำกัดความรับผิด การฝ่าฝืนข้อตกลงโดยชัดแจ้งให้บรรทุกของในระวาง ให้ถือว่าผู้ขนส่งกระทำการหรืองดเว้นกระทำการตามม.60(1) อันทำให้ผู้ขนส่งไม่สามารถอ้างข้อจำกัดความรับผิดได้ ม.11 วรรคท้าย เช่น ฎ.176/2551 ศาลขยายความว่า ต้องมีข้อบกพร่องอย่างร้ายแรง , ฎ.1646/2546 , 6471/2541
7.4) หัวข้ออื่น ๆ ที่อาจมีประเด็นในการสอบ/ใช้วัดผลสอบจากคดีที่เกิดขึ้น
-ขอบเขตการใช้บังคับกฎหมายไทย ม.4 , 5 , 6 เช่น สินค้าเสียหายในแม่น้ำไม่ใช่ขนส่งทางทะเล ไม่อยู่ภายใต้บังคับพ.ร.บ.การรับขนฯ ฎ.72673/2561 , คดีที่ฟ้องละเมิดไม่ได้ ฎ.1639/2549
***จบการบรรยาย***
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น