สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (ครั้งที่ 6-7)

สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ
กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (ครั้งที่ 6)
อาจารย์วรวุฒิ ทวาทศิน
วันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม 2568
**********

1. วิชานี้ไม่ยากถ้ารู้จักวิธีการดูหนังสือ ข้อสอบส่วนใหญ่จะออกการรับขนของทางทะเล บางครั้งก็จะมีปนระหว่างการรับขนของทางทะเลกับ Incoterms 
-รับขนของทางทะเล มีตัวละครหลัก 3 คน คือ ผู้ส่งของ ผู้ขนส่ง และผู้รับตราส่ง
-ถ้าข้อสอบมี Incoterms ด้วย ก็จะพูดถึงนิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย (Incoterms ความตกลงระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย) 
-หัวใจของกฎหมายการรับขนของทางทะเล ก็คือ ความรับผิดของผู้ขนส่งเป็นหลัก ข้อสอบเก่า ๆ จะพูดถึงกรณีทรัพย์สินสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า จะถามว่าผู้ขนส่งต้องรับผิดหรือไม่ เพียงใด 
-ต้องรับผิดตามม.39 , เพียงใดตามม.58 , แต่ผู้ขนส่งอาจพิสูจน์ว่าไม่ต้องรับผิดก็ได้ตามม.51-56 (ม.51 , 52)
-ผู้ขนส่งต้องรับผิดเต็มจำนวนตามม.60
-ม.60(1) คำว่า "ละเลยหรือไม่เอาใจใส่" ศาลฎีกาตีความว่า เป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 

2. ขอบเขตของการใช้พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534
-ม.4 ขนส่งจากไทยไปต่างประเทศ หรือจากต่างประเทศมาประเทศไทย
-หากเป็นการขนส่งในต่างประเทศ แต่ทำสัญญาในประเทศไทย ไม่เข้าม.4 แต่ถือว่ามูลคดีเกิดในประเทศไทย หากนำคดีมาฟ้องศาลไทย ก็น่าจะตกอยู่ในบังคับม.609 วรรคสอง ในที่สุดก็ต้องนำพ.ร.บ.นี้มาใช้บังคับในฐานะเป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง 
-ม.4 วรรคสอง การขนส่งของทางทะเลภายในประเทศ อาจตกลงเป็นหนังสือให้ใช้พ.ร.บ.นี้บังคับได้
-การขนส่งของในแม่น้ำลำคลอง ไม่ใช่การรับขนของทางทะเลภายในราชอาณาจักร ตกลงกันตามม.4 วรรคสอง ไม่ได้
-ม.4 วรรคสาม การขนส่งโดยไม่คิดค่าระวาง ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดตามพ.ร.บ.นี้ แต่ถ้ามีการออกใบตราส่ง ใบรับของหรือเอกสารอื่นทำนองเดียวกัน ผู้ขนส่งต้องจดแจ้งในเอกสารดังกล่าวว่าไม่ต้องรับผิด มิฉะนั้นจะยกขึ้นต่อสู้ผู้รับตราส่งหรือผู้โอนสิทธิตามเอกสารดังกล่าวไม่ได้

3. ผู้ขนส่ง และผู้ขนส่งอื่น
-ผู้ขนส่ง หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบการรับขนของทางทะเลเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติ โดยทำสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของ , การเป็นผู้ขนส่งหรือไม่ พิจารณาว่าเป็นคู่สัญญากับผู้ส่งหรือไม่เท่านั้น ไม่ได้ดูว่าเป็นผู้ขนส่งจริงหรือไม่ แม้ไม่ได้ทำการขนส่งเลยก็เป็นผู้ขนส่งได้ หากเป็นผู้ทำสัญญารับขนกับผู้ส่งและมีลักษณะเป็นผู้ขนส่ง , และมีความรับผิดตามม.39
-ผู้ขนส่งอื่น หมายความว่า บุคคลซึ่งมิได้เป็นคู่สัญญากับผู้ส่งของในสัญญารับขนของทางทะเล แต่ได้รับมอบหมายจากผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งของตามสัญญานั้นแม้เพียงช่วงระยะทางช่วงใดช่วงหนึ่ง และให้หมายความรวมถึงบุคคลอื่นใดซึ่งผู้ขนส่งอื่นได้มอบหมายช่วงต่อไปให้ทำการขนส่งของนั้นด้วย ไม่ว่าจะมีการมอบหมายช่วงกันไปกี่ทอดก็ตาม แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงบุคคลซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายตามประเพณีในธุรกิจการรับขนของทางทะเล ให้เป็นตัวแทนผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นในการดำเนินงานอันเกี่ยวกับธุรกิจเนื่องจากการรับขนของทางทะเล เช่น พิธีการเข้าเมือง พิธีการศุลกากร การนำร่อง การเข้าท่า การออกจากท่า การบรรทุกของลงเรือ การขนถ่ายของขึ้นจากเรือ หรือการส่งมอบของแก่ผู้รับตราส่ง เป็นต้น , และมีความรับผิดตามม.43-45 
-ลักษณะข้อสอบ นักศึกษาต้องให้ความหมายคำว่า "ผู้ขนส่ง" และ "ผู้ขนส่งอื่น" ได้สัก 3 คะแนน และวินิจฉัยว่ามีความรับผิดอีก 3 คะแนน และรับต้องรับผิดเพียงใด (ม.58) อีก 3 คะแนน ก็จะได้คะแนนเกือบเต็ม***
-ฎ.5402/2542 แม้เรือที่ใช้ในการขนส่งเป็นของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ออกใบตราส่ง แต่บริษัท อ. มิได้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ให้ขนส่ง แต่มอบหมายจำเลยที่ 1 ทำการขนส่ง โดยสัญญาขนส่งระหว่างบริษัท อ. กับจำเลยที่ 1 ระบุว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิเลือกจ้างผู้รบขนส่งช่วงชั้นดีในการขนส่งได้ แต่จำเลยที่ 1 ยังต้องรับผิดต่อบริษัท อ. ในการปฏิบัติตามสัญญาและผู้ขนส่งช่วงอื่นที่จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้าง ให้ถือว่าเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ที่ต้องรับผิดต่อบริษัท อ. ดังนั้น การที่จำ่เลยที่ 3 ทำการขนส่งดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินการแทนจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้า จึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายสำหรับความเสียหายของสินค้าที่เกิดขึ้นจากการขนส่งของจำเลยที่ 3 ด้วย (จำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งอื่น)
-ฎ.3959/2545 เมื่อผู้ขนส่งอื่นมอบสินค้าที่ขนส่งให้แก่จำเลยที่ 1 โดยไม่ได้เวนคืนใบตราส่ง อันเป็นการประพฤติผิดบทบัญญัติม.3 , 28 เป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับชำระราคาสินค้าที่ขนส่ง จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งทำสัญญาขนส่งกัน จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นนับแต่วันผิดสัญญาเป็นต้นไป
-ฎ.164/2546 โจทก์ว่าจ้างผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งสินค้า โจทก์ติดต่อผ่านจำเลยซึ่งจำเลยก็ได้ตกลงรับจัดการขนส่งสินค้าให้แก่โจทก์ และเมื่อจำเลยได้รับสินค้าไปจากโจทก์แล้ว จำเลยเป็นผู้ออกใบตราส่งในฐานะเป็นตัวแทนของผู้ขนส่ง ออกใบเสร็จรับเงินว่าจำเลยเป็นตัวแทนของผู้ขนส่ง และได้ทำสัญญารับขนส่งสินค้าให้แก่โจทก์แทนผู้ขนส่งซึ่งเป็นตัวการที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ หาใช่เป็นเพียงนายหน้าในการรับของระวางเรือไม่ จึงต้องรับผิดตามสัญญานั้นแต่ลำพังตนเองตามม.824 แม้จำเลยไม่ใช่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นก็ตาม
-ฎ.1934/2546 ทำสัญญาแทนตัวการที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ เมื่อตัวการผิดสัญญาไม่ส่งมอบสินค้าที่ขนส่งให้แก่ผู้ทรงใบตราส่งที่ท่าเรือปลายทาง จึงต้องรับผิดแทนตัวการโดยลำพังตนเองตามม.824
-ฎ.3961/2548 จำเลยตกลงรับขนสินค้าและเป็นผู้ออกใบตราส่ง ใบจองระวางเรือก็เป็นแบบฟอร์มของจำเลย ข้อตกลงชำระค่าระวางระบุว่าเป็น freight prepaid อันแสดงว่าจำเลยได้รับบำเหน็จค่าระวางจากการขนส่งสินค้านี้ วัตถุประสงค์ของจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลคือประกอบกิจการรับขนสินค้าทั้งในและระหว่างประเทศ ทั้งจำเลยก็มิได้แจ้งหรือสำแดงว่าจำเลยเป็นตัวแทนของผู้ขนส่งรายใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ขนส่งตามคำนิยามในม.3
-ผู้ขนส่งอื่น การขนส่งของทางทะเล ผู้ขนส่งอาจมอบหมาย หรือว่าจ้างให้ผู้ขนส่งอื่นหรือผู้ทำการขนส่งแทนผู้ขนส่งที่เป็นคู่สัญญารับขนก็ได้ 
-บุคคลซึ่งมิได้เป็นคู่สัญญากับผู้ส่งของในสัญญารับขนของทางทะเล แต่ได้รับมอบหมายให้ทำการขนส่งช่วงใดช่วงหนึ่ง ไม่ว่าโดยผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นด้วยกันเช่นนี้ เรียกว่าเป็นผู้ขนส่งอื่น ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเฉพาะการขนส่งในส่วนที่ผู้ขนส่งอื่นได้รับมอบหมายตามม.44 และต้องรับผิดในลักษณะลูกหนี้ร่วมกับผู้ขนส่งตามม.45 ทำนองเดียวกับผู้ขนส่งหลายทอดตามม.618
-ม.43 "แม้ว่าผู้ขนส่งจะได้มอบหมายให้ผู้ขนส่งอื่นทำการขนส่งของที่ตนรับขน ผู้ขนส่งก็ยังคงต้องรับผิดเพื่อการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าแห่งของนั้น และจะต้องรับผิดเพื่อการกระทำของผู้ขนส่งอื่น รวมทั้งลูกจ้างและตัวแทนของผู้ขนส่งอื่น ซึ่งได้กระทำไปภายในทางการที่จ้าง หรือภายในขอบอำนาจของการเป็นตัวแทนนั้นด้วย"
-ม.44 "ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยความรับผิดของผู้ขนส่งมาใช้บังคับแก่ผู้ขนส่งอื่น เฉพาะการขนส่งในส่วนที่ผู้ขนส่งอื่นได้รับมอบหมายด้วย"
-ม.45 "เมื่อมีกรณีที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดและผู้ขนส่งอื่นจะต้องรับผิดในกรณีเดียวกันนั้นด้วย ให้ผู้ขนส่งและผู้ขนส่งอื่นดังกล่าวเป็นลูกหนี้ร่วมกัน"
-ข้อยกเว้น คำว่า "ผู้ขนส่งอื่น" ไม่รวมถึงบุคคลซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายตามประเพณีในธุรกิจการรับขนของทางทะเล ให้เป็นตัวแทนผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นในการดำเนินงานอันเกี่ยวกับธุรกิจเนื่องจากการรับขนของทางทะเล เช่น พิธีการเข้าเมือง พิธีการศุลกากร การนำร่อง การเข้าท่า การออกจากท่า การบรรทุกของลงเรือ การขนถ่ายของขึ้นจากเรือ หรือการส่งมอบของแก่ผู้รับตราส่ง เป็นต้น ซึ่งบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจให้ทำหน้าที่ดังกล่าว เรียกว่าตัวแทนเรือ (shipping agent) ก็ไม่ต้องรับผิดตามพ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ
-ฎ.4277/2540 , ข้อสอบเนติ 52 คำว่า "ผู้ขนส่งอื่น" ตามพ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ม.3 วรรคสอง มีอยู่ 2 ประเภท คือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งของตามสัญญารับขนของทางทะเลประเภทหนึ่ง และบุคคลอื่นซึ่งผู้ขนส่งอื่นได้มอบหมายช่วงต่อไปให้ทำการขนส่งของนั้นอีกประเภทหนึ่ง แต่บุคคลซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายตามประเพณีในธุรกิจการรับขนของทางทะเลให้เป็นตัวแทนผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นในการดำเนินงานอันเกี่ยวกับธุรกิจจากการรับขนของทางทะเลนั้น ไม่ถือว่าเป็นผู้ขนส่งอื่นด้วย
-ฎ.2069/2543 การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของท่าเรือ และลานวางพักตู้สินค้าได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้ขนย้ายตู้สินค้าจากเรือที่ขนส่งสินค้าที่เทียบท่าเรือไปไว้ ณ ลานวางพักสินค้า เพื่อให้มอบตู้สินค้านั้นให้ผู้รับตราส่งต่อไป อันเป็นการประกอบกิจการเช่นเดียวกับการดำเนินงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทย การดำเนินการดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งอื่น

4. ผู้ส่งของ
-ผู้ส่งของ อาจมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นตัวแทน ไปติดต่อและทำสัญญากับผู้ขนส่งแทนก็ได้ เช่น มอบให้ผู้รับจัดการขนส่ง forwarding agent เป็นผู้ติดต่อและทำสัญญากับผู้ขนส่งแทนผู้ส่งของ

5. ผู้รับตราส่ง
-กฎหมายถือว่า ผู้รับตราส่ง เป็นบุคคลที่มีสิทธิจะรับของที่ขนส่งมาได้ และมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่น มอบของที่ขนส่งแก่ตน รวมทั้งสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าจากผู้ขนส่ง ตามม.26
-ม.26 "ในกรณีที่ได้ออกใบตราส่งให้แก่กันไว้ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ขนส่งกับผู้รับตราส่ง ในเรื่องทั้งหลายเกี่ยวกับการขนส่งของที่ระบุไว้ในใบตราส่งนั้น ให้เป็นไปตามข้อกำหนดในใบตราส่ง"

6. ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง
-รับผิดเพียงใด ก็ต้องดูม.58
-ม.58 "ภายใต้บังคับมาตรา 60 ในกรณีที่ของซึ่งผู้ขนส่งได้รับมอบหมาย สูญหายหรือเสียหายไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียง หนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง หรือ กิโลกรัมละสามสิบบาทต่อน้ำหนักสุทธิแห่งของนั้น แล้วแต่เงินจำนวนใดจะมากกว่า
  ในกรณีที่คำนวณราคาของที่สูญหายหรือเสียหายได้ตามมาตรา 61 และปรากฏว่าราคาของนั้น ต่ำกว่าที่จำกัดความรับผิดไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเอาตามราคาที่คำนวณได้นั้น
  ในกรณีที่มีการส่งมอบของชักช้า ให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียง สองเท่าครึ่งของค่าระวางแห่งของเฉพาะที่ส่งมอบชักช้า แต่รวมกันต้องไม่เกินค่าระวางทั้งหมดตามสัญญารับขนของทางทะเล
  ในกรณีที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดทั้งตามวรรคหนึ่งและวรรคสาม โดยมีหน่วยการขนส่งเดียวกันเป็นมูลแห่งความรับผิด ให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ ไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง"

7. ของ หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ สัตว์มีชีวิต รวมทั้งภาชนะขนส่งที่ผู้ส่งของเป็นผู้จัดหามาเพื่อใช้ในการขนส่งด้วย 

8. ภาชนะขนส่ง หมายความว่า ตู้สินค้า ไม้รองสินค้า หรือสิ่งอื่นอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน ซึ่งใช้บรรจุหรือรองรับของ หรือใช้รวมหน่วยการขนส่งของหลายหน่วยเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในการขนส่งทางทะเล ให้ดูประกอบม.58 , 59

9. หน่วยการขนส่ง หมายความว่า หน่วยแห่งของที่ขนส่งทางทะเลซึ่งนับเป็นหนึ่ง และแต่ละหน่วยอาจทำการขนส่งไปตามลำพังได้ เช่น กระสอบ ชิ้น ถัง ตู้ ม้วน ลัง ลูก ห่อ หีบ อัน หรือหน่วยที่เรียกชื่ออย่างอื่น ให้ดูประกอบม.58 , 59
-ฎ.7622/2540 สินค้าพิพาทบรรจุอยู่ในถุงพลาสติก และมีเชือกรัดปากถุงไว้ และบรรจุอยู่ในถังกระดาษไฟเบอร์มีฝาเหล็กปิดโดยรอบแล้ว ใช้นอตขันห่วงให้ยึดแน่นไว้ แต่ละถังบรรจุของหนัก 25 กิโลกรัม รวม 375 ถัง บรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์เดียวกัน และตามใบตราส่ง ในช่อง "คำพรรณนาสินค้า" ระบุว่าตู้คอนเทนเนอร์เดียว 1 x 20 ฟุต บรรจุอาหารสัตว์ 3375 ถัง ฯลฯ จึงเป็นการแสดงว่า แต่ละถังที่บรรจุสินค้าคือยารักษาโรคไก่ มีสภาพสามารถทำการขนส่งไปตามลำพังได้ จึงถือว่าแต่ละถังที่บรรจุสินค้าพิพาทเป็น "หนึ่งหน่วยการขนส่ง" ตามคำนิยามในม.3 ส่วนตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าพิพาทดังกล่าว ถือเป็นภาชนะขนส่ง การคำนวณค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องรับผิด จึงต้องคำนวณตามหลักเกณฑ์ในม.58 วรรคหนึ่ง ประกอบม.59(1)
-ฎ.4709/2542 คำว่า "ตู้" ที่ยกตัวอย่างในคำนิยามนั้น ย่อมหมายความถึงตู้สำหรับบรรจุสินค้าหรือของอย่างหนึ่งซึ่งมีขนาดเล็ก ต่างจากตู้สินค้าซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าและสามารถบรรจุภาชนะสำหรับบรรจุสินค้าขนาดเล็กดังกล่าวได้เป้นจำนวนมาก เพื่อความสะดวกในการขนย้าย ดังนั้น ตู้สินค้าซึ่งเรียกกันในวงการว่าตู้คอนเทนเนอร์จึงเป็นภาชนะขนส่ง ส่วนตู้เป็นหน่วยการขนส่งดังม.3 บัญญัติให้คำนินยามไว้โดยชัดแจ้งแล้ว มิใช่ว่าตู้หรือตู้สินค้ามีความหมายเป็นได้ทั้งหน่วยการขนส่งและภาชนะขนส่ง เมื่อตู้สินค้าไม่ใช่หน่วยการขนส่ง 1 หน่วย จึงไม่อาจที่จะจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมไม่เกิน 10,000 บาท ได้
-การวินิจฉัยว่าสิ่งใดเป็นภาชนะขนส่ง และสิ่งใดเป็นหน่วยการขนส่ง จึงอยู่ที่ว่าสิ่งที่เป็นหน่วยการขนส่งคือสิ่งที่โดยสภาพทำการขนส่งได้ตามลำพัง ส่วนภาชนะขนส่งคือสิ่งที่บรรจุหน่วยการขนส่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เช่น ตู้คอนเทนเนอร์หรือตู้สินค้า เป็นต้น

10. ข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่งตามม.51
-หน้าที่ผู้ขนส่ง ไม่ใช่หน้าที่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แต่เป็นหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอที่ผู้ประกอบอาชีพขนส่งอื่นจะต้องกระทำเช่นนั้น 
-ถ้าผู้ขนส่งกระทำการทั้งปวงเท่าที่เป็นธรรมดาและสมควรดังกล่าว หรือแก้ไขข้อบกพร่องโดยเร็วที่สุดตามวิสัยผู้ประกอบอาชีพรับขนของทางทะเลพึงกระทำ ผู้ขนส่งก็ไม่ต้องรับผิดในความสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า อันเกิดจากการจัดหาเรือไม่เหมาะสมตามม.51 เพราะฉะนั้น ผู้ขนส่งมีภาระการพิสูจน์ว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ตามม.8 วรรคสอง หรือม.9 แล้ว
-ม.51 "ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดเพื่อการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าอันเกิดขึ้นจากการไม่เป็นไปตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ถ้าพิสูจน์ได้ว่าตนปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 8 วรรคสอง หรือมาตรา 9 แล้ว"
-ม.8 "ก่อนบรรทุกของลงเรือหรือก่อนที่เรือนั้นจะออกเดินทาผู้ขนส่งมีหน้าที่ต้อง
  (1) ทำให้เรืออยู่ในสภาพที่สามารถเดินทะเลได้อย่างปลอดภัยในเส้นทางเดินเรือนั้น
  (2) จัดให้มีคนประจำเรือ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องอุปกรณ์ และสิ่งจำเป็นให้เหมาะสมแก่ความต้องการสำหรับเรือนั้น และ
  (3) จัดระวางบรรทุกและส่วนอื่น ๆ ที่ใช้บรรทุกของให้เหมาะสมและปลอดภัยตามสภาพแห่งของที่จะรับ ขนส่ง และรักษา เช่น เครื่องปรับอากาศ ห้องเย็น เป็นต้น
  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรานี้ ผู้ขนส่งต้องกระทำการทั้งปวงเท่าที่เป็นธรรมดาและสมควรจะต้องกระทำสำหรับผู้ประกอบอาชีพรับขนของทางทะเล"
-ม.9 "ถ้ามีความบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 8 เกิดขึ้นหลังจากบรรทุกของลงเรือหรือเมื่อเรือนั้นออกเดินทางแล้ว ผู้ขนส่งจะต้องจัดการแก้ไขความบกพร่องนั้นโดยเร็วที่สุดเท่าที่อยู่ในวิสัยที่ผู้ประกอบอาชีพรับขนของทางทะเลจะทำได้ในภาวะเช่นนั้น"

11. ข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่งตามม.52
-ม.52 "ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดเพื่อการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า ถ้าพิสูจน์ได้ว่าการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้านั้นเกิดขึ้นหรือเป็นผลจาก
  (1) เหตุสุดวิสัย
  (2) ภยันตรายหรืออุบัติเหตุแห่งท้องทะเลหรือน่านน้ำที่ใช้เดินเรือได้
  (3) การสงครามหรือการสู้รบของกองกำลังติดอาวุธ
  (4) สงครามกลางเมือง การจลาจล การก่อการร้าย หรือการก่อการวุ่นวายในบ้านเมือง
  (5) การยึด การจับ การหน่วงเหนี่ยวหรือการแทรกแซงด้วยประการใด ๆ ซึ่งกระทำต่อเรือ โดยผู้มีอำนาจปกครองรัฐหรือดินแดนหรือตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นเหตุมาจากความผิดหรือประมาทเลินเล่อของผู้ขนส่ง
  (6) การใช้มาตรการป้องกันและปราบปรามโรคติดต่อ
  (7) การนัดหยุดงาน การปิดงานงดจ้าง การผละงาน หรือการจงใจทำงานล่าช้าที่ท่าเรือ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นอุปสรรคแก่การบรรทุกหรือขนถ่ายของหรือเป็นอุปสรรคแก่การที่เรือจะเข้าหรือออกจากท่าเรือนั้น
  (8) การกระทำของโจรสลัด
  (9) ความผิดของผู้ส่งของหรือผู้รับตราส่ง เช่น การบรรจุหีบห่อ หรือรวมมัดไม่มั่นคงแข็งแรงหรือไม่เหมาะสมกับสภาพแห่งของ การทำเครื่องหมายที่ของหรือหีบห่อไม่ชัดเจนหรือไม่เพียงพอ
  (10) สภาพแห่งของนั้นเอง
  (11) ความชำรุดบกพร่องของเรือที่แฝงอยู่ภายในซึ่งไม่อาจพบเห็นหรือทราบได้ด้วยการตรวจสอบอย่างระมัดระวังและโดยใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาและสมควรจะต้องใช้สำหรับผู้ประกอบอาชีพตรวจเรือ
  (12) ความผิดพลาดในการเดินเรืออันเกิดจากความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่หรือตามคำสั่งของผู้นำร่อง
  (13) เหตุอื่นใดที่มิใช่ความผิดหรือประมาทเลินเล่อหรืออยู่ในความรู้เห็นของผู้ขนส่ง และมิใช่ความผิดหรือประมาทเลินเล่อของตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่ง"
-ฎ.127/2542 ตามม.52 จำเลยในฐานะผู้ขนส่งจะไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่ตนขนส่งต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายเกิดจากเหตุตามม.52(1)-(11) จริง จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์เพื่อให้ได้ความเช่นนั้น ซึ่งกรณีเป็นเหตุสุดวิสัยต้องปรากฏว่าเป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามควรอันถึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น สินค้าเกลือพิพาทได้รับความเสียหายเนื่องจากน้ำทะเลรั่วผ่านรอยแตกผุกร่อนที่ดาดฟ้าและท่าระบายอากาศถังน้ำอับเฉาเข้าไปถึงสินค้าที่เก็บในระวางที่ 2 ซึ่งในระหว่างเดินทางเรือประสบคลื่นลมแรง แต่ก็ไม่ปรากฏว่าคลื่นลมนั้นมีความรุนแรงเกินความคาดหมายในสภาพท้องทะเลช่วงนั้นถึงขนาดที่ไม่อาจป้องกันมิให้น้ำทะเลรั่วซึ่งเข้าไปในเรือได้แต่อย่างใด , จำเลยในฐานะผู้ขนส่งมีหน้าที่ต้องทำให้เรืออยู่ในสภาพที่สามารถเดินทะเลได้อย่างปลอดภัยในเส้นทางเดินเรือนั้น จัดให้มีคนประจำเรือ เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องอุปกรณ์และสิ่งจำเป็นให้เหมาะสมแก่ความต้องการสำหรับเรือนั้น และจัดระวางบรรทุกและส่วนอื่น ๆ ที่ใช้บรรทุกของให้เหมาะสมและปลอดภัยตามสภาพแห่งของที่จะรับขนส่งและรักษาตามที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.ฯ ม.8 แม้ก่อนหน้าที่จำเลยจะนำเรือดังกล่าวมาใช้ขนส่งสินค้าพิพาท เพิ่งจะได้รับการตรวจสภาพโครงสร้างของตัวเรือมาก่อนก็ตาม แต่หลังจากการตรวจสภาพโครงสร้างเรือแล้ว ก็อาจมีข้อบกพร่องที่เกี่ยวกับโครงสร้างหรือส่วนอื่นที่ไม่ใช่โครงสร้างของเรือเกิดขึ้นได้ ซึ่งหากมีข้อบกพร่องดังกล่าว จำเลยก็มีหน้าที่ต้องแก้ไขเสียก่อนบรรทุกของลงเรือหรือก่อนนำเรือออกเดินทางเพื่อให้เป้นไปตามม.8 ปรากฏว่าหลังเกิดเหตุเพียงเล็กน้อย เจ้าหน้าที่สำรวจความเสียหายของสินค้าก็สามารถตรวจพบรอยผุกร่อนที่ดาดฟ้าและท่อระบายอากาศถังน้ำอับเฉาได้ จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่อยู่ในความดูแลของจำเลย

***จบการบรรยาย***

ความคิดเห็น

10 บทความยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 (20 ข้อ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ การลาของข้าราชการ (ชุดที่ 2)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)