สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ กฎหมายยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ (ครั้งที่ 4-5)
สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ
กฎหมายยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ (ครั้งที่ 4-5)
อาจารย์วิวัฒน์ ว่องวิวัฒน์ไวทยะ
วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน 2568
**********
1. สัญญาค้ำประกัน
-ม.680 "อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น
อนึ่ง สัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่"
อนึ่ง สัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่"
-เป็นการประกันหนี้ในลักษณะบุคคลสิทธิ
-เป็นสัญญาอุปกรณ์ที่ต้องมีสัญญาประธาน
-ลูกหนี้ในสัญญาประธานจะเป็นผู้ค้ำประกันอีกฐานะหนึ่งไม่ได้ (แต่เรื่องจำนอง ผู้จำนองเป็นได้ทั้งลูกหนี้ในสัญญาประธาน และผู้จำนอง)
-สัญญาประธาน จะเป็นสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาเช่า หรือสัญญาอะไรก็ได้ ไม่ได้มีเฉพาะสัญญากู้ยืมเงิน
-หนี้ตามสัญญาอุปกรณ์ รับผิดไม่เกินหนี้ตามสัญญาประธาน
-ฎ.8712/2556 จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันหาต้องรับผิดต่อโจทก์ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงไปกว่าที่ลูกหนี้ชั้นต้นจะต้องชำระ
-ฎ.14592/2558 เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้น ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย
-พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 และ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2558 แก้ไขเรื่องค้ำประกัน 6 มาตรา คือ ม.681 , 681/1 , 685/1 , 686 , 691 , 700
2. ผู้กู้จะค้ำประกันหนี้ของตนไม่ได้ ผู้ค้ำประกันหนี้ต้องเป็นบุคคลภายนอกเท่านั้น และต้องทำต่อเจ้าหนี้ ม.680 วรรคหนึ่ง
3. ผู้ค้ำประกันตาย สัญญาค้ำประกันไม่ระงับ
-ฎ.1268/2555 ค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันหาได้มีหนี้ที่จะต้องปฏิบัติต่อเจ้าหนี้โดยอาศัยความสามารถหรือคุณสมบัติบางอย่างซึ่งต้องกระทำเป็นการเฉพาะตัวไม่ ผู้ค้ำประกันมีความผูกพันต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้อันเป็นความผูกพันในทางทรัพย์สินเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เมื่อ พ. ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้อันสมบูรณ์ตามม.681 วรรคหนึ่ง แม้ขณะที่ พ. ตาย จำเลยที่ 1 ผู้กู้ยังไม่ผิดสัญญาหรือผิดนัดก็ตาม สัญญาค้ำประกันก็หาได้ระงับไปเพราะความตายของ พ. ไม่ สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ตามสัญญาค้ำประกันที่ พ. ทำกับโจทก์จึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทตามม.1599 วรรคหนึ่ง , 1600 (ฎ.1303/2564 แต่ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตนตามม.1601)
4. สัญญาค้ำประกัน ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ม.680 วรรคสอง
-หลักฐาน ฉบับเดียวหรือหลายฉบับก็ได้ ขอให้มีก่อนฟ้อง
-มีข้อความทำนองว่า ค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ หรือเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระตนจะชำระแทน และลงลายมือชื่อในฐานะผู้ค้ำประกัน (ทั้งนี้ข้อความในสัญญาค้ำประกัน ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขตามม.681 วรรคสองและวรรคสาม ซึ่งแก้ไขใหม่)
5. สัญญาค้ำประกัน มีการกรอกข้อความภายหลัง บังคับได้หรือไม่
5.1) ถ้ากรอกตัวเลขภายหลังตามจริง ใช้บังคับได้ ฎ.5685/2548 (ข้อสอบเนติ 65)
5.2) ถ้ากรอกตัวเลขภายหลังไม่ตรงตามความเป็นจริง โดยผู้กู้ผู้ค้ำประกันไม่ยินยอม เป็นเอกสารปลอม ถือได้ว่าไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ไม่มีสิทธิฟ้อง (ฎ.5189/2540)
6. สัญญาค้ำประกันเพื่อประกันหนี้ที่สมบูรณ์ ม.681 วรรคหนึ่ง ต้องดูความสมบูรณ์ของหนี้ประธานในแต่ละเรื่อง
-สัญญาซื้อขายยาเสพติด หนี้ประธานโมฆะ หมายถึงหนี้ไม่สมบูรณ์ตามนัย ม.681 วรรคหนึ่ง สัญญาค้ำประกันจึงไม่สมบูรณ์ ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิด
-สัญญาเช่าซื้อลงลายมือชื่อฝ่ายเดียว ไม่ถูกต้องตามแบบ เป็นโมฆะ หนี้สัญญาเช่าซื้อไม่สมบูรณ์ ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิด
-กู้ยืมเงิน ส่งมอบเงิน กู้ยืมสมบูรณ์ แม้ขาดหลักฐานตามกฎหมาย ก็เพียงต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องบังคับคดีเอากับผู้กู้เท่านั้น เมื่อหนี้การกู้ยืมเงินมีอยู่จริงและสมบูรณ์เพียงใด ย่อมมีการค้ำประกันหรือการจำนองได้เพียงนั้น (แต่ผู้ค้ำประกันมีสิทธิยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ว่าไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเงินขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ตามม.694 อันจะส่งผลให้ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิด แต่กรณีผู้จำนองไม่มีสิทธิยกข้อต่อสู้ดังกล่าว ยังต้องรับผิด (ข้อสอบเนติ 47 , 49)
-ข้อสอบในส่วนของอาจารย์ ตัวละครจะเป็นเรื่องกู้ยืม แล้วก็มีค้ำประกันและจำนองด้วย***
-ขณะทำสัญญาค้ำประกันหนี้เงินกู้ ยังไม่มีการส่งมอบเงินกู้ ต่อมามีการส่งมองเงินกู้ภายหลัง ผลเป็นอย่างไร ฎ.10419/2557 ม.681 กฎหมายเพียงแต่กำหนดเงื่อนไขว่าการค้ำประกันจะมีได้ก็ต่อเมื่อเป็นการค้ำประกันหนี้อันสมบูรณ์เท่านั้น แต่หาได้มีบทมาตราใดบัญญัติว่าขณะทำสัญญาค้ำประกันหนี้ที่ค้ำประกันนั้นต้องเป็นหนี้อันสมบูรณ์อยู่แล้วไม่ ดังนั้น แม้ขณะที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังไม่บริบูรณ์ เนื่องจากโจทก์ยังไม่ได้ส่งมอบเงินที่กู้ยืมให้แก่จำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมรับว่าภายหลังต่อมาโจทก์ได้ส่งมอบเงินที่กู้ยืมตามสัญญากู้เงินให้แก่จำเลยที่ 1 ครบแล้ว หนี้ตามสัญญากู้เงินจึงเป็นหนี้ที่สมบูรณ์ที่อาจทำสัญญาค้ำประกันได้แล้วตามม.650 วรรคสอง (ฎ.1579/2552) (ดังนั้น ค้ำประกันกับจำนอง ประกันหนี้ที่อาจเกิดขึ้นโดยสมบูรณ็ในอนาคตได้)
-ม.681 ใช้กับการจำนองด้วยตามม.707
-ถ้าไม่ได้รับเงินกู้เลย แม้มีหลักฐานการกู้ยืม ก็ถือว่าไม่สมบูรณ์ ไม่มีมูลหนี้ที่ผู้ค้ำประกันและผู้จำนองต้องรับผิด (ฎ.7755/2559 , 3769/2564)
7. ม.681 วรรคสี่ "หนี้อันเกิดแต่สัญญาซึ่งไม่ผูกพันลูกหนี้เพราะทำด้วยความสำคัญผิดหรือเพราะเป็นผู้ไร้ความสามารถนั้น ก็อาจจะมีประกันอย่างสมบูรณ์ได้ ถ้าหากว่าผู้ค้ำประกันรู้เหตุสำคัญผิดหรือไร้ความสามารถนั้นในขณะที่เข้าทำสัญญาผูกพันตน"
-ใช้กับจำนองด้วย
-ผู้ค้ำประกัน ผู้จำนอง รู้เหตุสำคัญผิด/ไร้ความสามารถในขณะเข้าค้ำประกันและจำนอง ต่อมาสัญญาถูกบอกล้างโมฆียกรรม ผลเป็นไปตามม.176 ถือเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม แต่ลูกหนี้ไม่คืนเงิน ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดตามม.681 วรรคสี่ ผู้จำนองต้องรับผิดตามม.681 วรรคสี่ , 707 (ถ้าม.681 วรรคสี่ จะออกข้อสอบ ก็ออกได้แค่นี้)
8. สัญญาค้ำประกันต้องระบุถึงหนี้ประธานเพียงใด ม.681 วรรคสอง และวรรคสาม
8.1) ม.685/1 "บรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการค้ำประกันที่แตกต่างไปจากมาตรา 681 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาตรา 686 มาตรา 694 มาตรา 698 และมาตรา 699 เป็นโมฆะ" กรณีนี้ทำให้สัญญาค้ำประกันโมฆะทั้งหมด (แต่ถ้าเป็นมาตราอื่น จะเป็นโมฆะเฉพาะบางส่วน)
-ถ้าหนี้ประธานเป็นหนี้ในอนาคต ที่จะสมบูรณ์ในอนาคต ใช้ม.681 วรรคสอง ถ้าหนี้ประธานไม่ใช่หนี้ในอนาคต ใช้ม.681 วรรคสาม
8.2) ม.681 วรรคสาม กรณีที่หนี้ประธานไม่ใช่หนี้ในอนาคต หรือไม่ใช่หนี้มีเงื่อนไข สัญญาค้ำประกันก็ระบุเพียงหนี้หรือสัญญาที่ค้ำประกันไว้โดยชัดแจ้งตามม.681 วรรคสาม ผู้ค้ำประกันจะได้รู้ว่าตนต้องรับผิดในหนี้ใดบ้าง สมควรที่ตนจะเข้าค้ำประกันหนี้ทุกหนี้หรือไม่ เช่น ข้าพเจ้าตกลงยอมค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินระหว่างแดงผู้ให้กู้กับดำผู้กู้ ฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้น หากระบุไม่ชัดแจ้งตามม.681 วรรคสาม จะทำให้สัญญาค้ำประกันตกเป็นโมฆะตามม.685/1
-ฎ.199/2545 สัญญาค้ำประกันมิได้ระบุรายละเอียดว่าจำเลยที่ 2 ค้ำประกันหนี้คราวใด (จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ไปหลายครั้ง) และมีจำนวนเงินเท่าใดที่ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิด จึงเป็นเอกสารไม่สมบูรณ์และไม่อาจอนุมานได้ว่าผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดในจำนวนหนี้เท่าใด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันโจทก์ตามฟ้อง (ฎีกาเก่าเทียบเคียง แต่ปัจจุบันม.681 วรรคสาม + 685/1 เป็นโมฆะ)
8.3) ม.681 วรรคสอง ค้ำประกันหนี้ในอนาคต "หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขจะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้นั้นอาจเป็นผลได้จริงก็ประกันได้ แต่ต้องระบุวัตถุประสงค์ในการก่อหนี้รายที่ค้ำประกัน ลักษณะของมูลหนี้ จำนวนเงินสูงสุดที่ค้ำประกัน และระยะเวลาในการก่อหนี้ที่จะค้ำประกัน เว้นแต่เป็นการค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวตามมาตรา 699 จะไม่ระบุระยะเวลาดังกล่าวก็ได้"
-หนี้ในอนาคตต้องระบุอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าไม่ระบุ สัญญาค้ำประกันตกเป็นโมฆะม.685/1
--วัตถุประสงค์ในการก่อหนี้
--ลักษณะของมูลหนี้
--จำนวนเงินสูงสุดที่ค้ำประกัน
--ระยะเวลาที่ค้ำประกัน ยกเว้นค้ำประกันเพื่อกิจการต่อเนื่องตามม.699 ไม่ระบุระยะเวลาก็ได้
-หนี้ในอนาคต เช่น เบิกเงินเกินบัญชี ค้ำประกันการทำงาน
-ฎ.4308/2565 เมื่อหนังสือสัญญาค้ำประกันทำขึ้นภายหลังพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมป.พ.พ.(ฉบับที่ 20)ฯ มีผลใช้บังคับ จึงต้องนำม.681 , 685/1 มาใช้บังคับ คดีนี้มูลหนี้ตามคำฟ้องเกิดขึ้นภายหลังการทำสัญญาค้ำประกัน กรณีจึงเป็นการประกันมูลหนี้ที่อาจสมบูรณ์ในอนาคต เมื่อสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 มิได้ระบุจำนวนเงินสูงสุดที่ค้ำประกัน และระยะเวลาในการก่อหนี้ที่จะค้ำประกัน สัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงเป็นบรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการค้ำประกันที่แตกต่างไปจากม.681 วรรคสอง ตกเป็นโมฆะตามม.685/1 จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์
-ถ้ามีหนี้หลายมูลหนี้ บางมูลหนี้สัญญาค้ำประกันระบุชัดแจ้งตามม.681 วรรคสาม แต่บางมูลหนี้ระบุไม่ชัดแจ้ง หรือในส่วนหนี้ในอนาคต สัญญาค้ำประกันกลับระบุแตกต่างหรือไม่ครบตามม.681 วรรคสอง เฉพาะข้อตกลงในการค้ำประกันที่ไม่ชัดแจ้งหรือหนี้ในอนาคตเป็นโมฆะ แต่ข้อตกลงในส่วนการค้ำประกันหนี้ที่มีอยู่แล้วและชัดแจ้งก็สมบูรณ์ (เทียบข้อสอบเนติ 62 , ฎ.1023/2548)
9. สัญญาค้ำประกัน คุ้มถึงต้นเงินและดอกเบี้ยเพียงใด
-ม.683 "อันค้ำประกันอย่างไม่มีจำกัดนั้น ย่อมคุ้มถึงดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นด้วย"
-สัญญาค้ำประกันอย่างจำกัด ก็มีได้ เช่น กู้ 2 แสน ค้ำประกัน 1 แสน ก็เขียนให้ชัดเจน
-ถ้าสัญญาค้ำประกันระบุหนี้หรือสัญญาที่ค้ำประกันไว้โดยชัดแจ้งแล้ว หรือการค้ำประกันหนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไข สัญญาค้ำประกันระบุลักษณะของมูลหนี้ วัตถุประสงค์และระยะเวลาในการก่อหนี้ค้ำประกันไว้แล้ว และระบุจำนวเงินที่ค้ำประกันไว้ลอย ๆ เช่น รับผิดในวงเงิน 1 แสนบาท กรณีนี้ต้องรับผิดตามจำนวนวงเงินที่ระบุไว้แต่ไม่เกินหนี้ประธาน และยังต้องรับผิดดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวด้วย (ฎ.3768/533)
-ถ้าสัญญาค้ำประกันระบุหนี้หรือสัญญาที่ค้ำประกันไว้โดยชัดแจ้งแล้ว แต่ไม่ระบุวงเงินที่ค้ำประกันไว้ และเป็นกรณีที่ไม่ใช่การค้ำประกันหนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไข เห็นว่าต้องรับผิดต้นเงินเต็มตามจำนวนหนี้ที่ค้ำประกัน และยังต้องรับผิดดอกเบี้ยจากต้นเงินเต็มจำนวนดังกล่าวด้วย
-ถ้าสัญญาค้ำประกันระบุจำนวนไว้ชัดเจน เช่น ยอมค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยรวมทั้งอุปกรณ์แห่งหนี้ทั้งสิ้นตามสินเชื่อดังกล่าวให้แก่ธนาคารไม่เกิน 1 แสนบาท หรือจำกัดเวลาการค้ำประกันไว้ ก็รับผิดตามที่จำกัดไว้นั้น แต่ถ้าผู้ค้ำประกันผิดนัด ก็ต้องรับผิดดอกเบี้ยผิดนัดต่างหาก
-ฎ.302/2545 สัญญาค้ำประกันไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ ก็ต้องถืออัตราดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ในสัญญาหรือหนี้ประธาน
10. ผู้ค้ำประกันหลายคน ม.682 วรรคสอง (ม.682 วรรคหนึ่ง ผู้รับเรือนไม่มีฎีกา)
-ม.682 "ท่านว่าบุคคลจะยอมเข้าเป็นผู้รับเรือน คือเป็นประกันของผู้ค้ำประกันอีกชั้นหนึ่ง ก็เป็นได้
ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันรวมกัน"
ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันรวมกัน"
-ม.682 วรรคสอง ออกข้อสอบบ่อย* รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน แม้จะเข้าค้ำประกันไม่พร้อมกันก็ตาม
-ข้อสอบเนติ 70 แดงกู้เงินดำ 2 ล้าน ขาวค้ำประกัน 1 ล้าน เขียวค้ำประกัน 1 ล้าน ขาวกับเขียวร่วมกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงิน 1 ล้าน ไม่ใช่ต่างคนต่างรับผิดคนละ 1 ล้าน (ฎ.2330/2538) เมื่อหนี้ถึงกำหนด ขาวชำระหนี้ให้ดำ 6 แสน ดำทำหนังสือปลดหนี้ค้ำประกันให้ขาว เขียวยังต้องรับผิดในหนี้ที่เหลือ 4 แสน (ฎ.12384/2558)
-การที่เจ้าหนี้ปลดหนี้ให้ผู้ค้ำประกันคนหนึ่งตามสัญญาค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันคนอื่นไม่หลุดพ้น ยังต้องรับผิด (แต่หากเป็นการปลดหนี้ประธาน จนหนี้ประธานระงับ จะทำให้ผู้ค้ำประกันทุกคนเป็นอันหลุดพ้น ไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ตามม.698)
-และถ้าถามต่อว่า ถ้าดำจะทวงจากแดง แดงต้องรับผิดเท่าไร ม.685 "ถ้าเมื่อบังคับตามสัญญาค้ำประกันนั้น ผู้ค้ำประกันไม่ชำระหนี้ทั้งหมดของลูกหนี้ รวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน และอุปกรณ์ด้วยไซร้ หนี้ยังเหลืออยู่เท่าใด ท่านว่าลูกหนี้ยังคงรับผิดต่อเจ้าหนี้ในส่วนที่เหลือนั้น" ถ้าเขียวไม่ได้จ่าย 4 แสน ก็ยังเหลือหนี้อยู่ 1 ล้าน 4 แสน ที่แดงจะต้องรับผิด
-ดำกู้เงิน 1 ล้าน มีขาวค้ำประกัน และเขียวค้ำประกัน ถึงกำหนดชำระ ขาวใช้หนี้แทน 1 ล้าน ขาวจะไล่เบี้ยจะเขียวได้เท่าไร เมื่อขาวกับเขียวเป็นลูกหนี้ร่วมกันตามม.682 วรรคสอง เมื่อผู้ค้ำประกันคนหนึ่งยอมชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ ย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ค้ำประกันอื่นได้ตามส่วนเท่า ๆ กัน ตามม.229(3) , 296 พร้อมดอกเบี้ย (ทันทีที่ได้ชำระเงิน) ตามม.224 วรรคหนึ่ง (ฎ.7125/2538 , 4337/2564) ขาวจึงไล่เบี้ยเขียวได้ 5 แสน (ถ้าขาวไม่ไล่เบี้ยเขียว แต่จะไล่เบี้ยดำ ก็ไล่เบี้ยได้ตามม.693 ซึ่งจะบรรยายครั้งหน้า)
-ถ้าถามว่า ลูกหนี้กู้เงิน 1 ล้าน มีผู้ค้ำประกัน 1 ล้าน และผู้จำนองที่ดิน 1 ล้าน หากผู้ค้ำประกันใช้หนี้แทนลูกหนี้แล้ว จะไล่เบี้ยผู้จำนองได้ไหม ไล่เบี้ยผู้จำนองไม่ได้ เพราะจำนองไม่เอาม.682 วรรคสอง ไปใช้ ผู้ค้ำประกันจะรับช่วยสิทธิเจ้าหนี้บังคับทรัพย์จำนองที่ไม่ใช่ของลูกหนี้ชั้นต้นไม่ได้ (ฎ.13337/2556)
11. การใช้สิทธิของเจ้าหนี้ ม.686
-ม.686 เดิม เมื่อลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้ฟ้องผู้ค้ำประกันได้ โดยไม่ต้องบอกกล่าว (ข้อสอบเนติ 57 ,67 , ฎ.5497/2562 , 1012/2563)
-ม.686 ปัจจุบัน (ใช้แนวเดิมไม่ได้แล้ว)
-ม.686 วรรคหนึ่ง "เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดเจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันมิได้ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ค้ำประกันที่จะชำระหนี้เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ"
-ม.686 วรรคหนึ่ง เมื่อลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกัน จึงจะฟ้องผู้ค้ำประกันได้ หนังสือไม่ต้องมีแบบ มีข้อความให้เข้าใจว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดแล้ว
-ม.686 วรรคหนึ่ง เมื่อลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกัน จึงจะฟ้องผู้ค้ำประกันได้ หนังสือไม่ต้องมีแบบ มีข้อความให้เข้าใจว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดแล้ว
-สัญญาค้ำประกัน ทำก่อนกฎหมายฉบับนี้แก้ไข แต่หากลูกหนี้ผิดนัดในช่วงกฎหมายใหม่ ก็ต้องใช้ม.686 ใหม่
-การผิดนัด เป็นไปตามม.204 วรรคหนึ่ง หนี้ไม่ได้กำหนดชำระตามวันปฏิทิน เมื่อเตือนและให้เวลาสมควรแล้วไม่ชำระ ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดเพราะเขาเตือน และม.204 วรรคสอง กำหนดวันปฏิทิน ลูกหนี้ผิดนัดโดยไม่ต้องเตือน
-ถ้าลูกหนี้ยังไม่ผิดนัด แต่เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวผู้ค้ำประกัน ถือไม่ได้ว่าเป็นหนังสือบอกกล่าวตามม.686 วรรคหนึ่ง ไม่มีอำนาจฟ้อง (ฎ.2235/2562 , 4994/2562 , 1883/2566 ,ข้อสอบผู้ช่วย 63)
-เจ้าหนี้บอกกล่าวผู้ค้ำประกันด้วยวาจาไม่ได้ ไม่มีอำนาจฟ้อง ต้องทำเป็นหนังสือม.686 วรรคหนึ่ง เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
-เมื่อลูกหนี้ผิดนัดแล้ว เจ้าหนี้บอกกล่าวเป็นหนังสือ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ผิดนัด เป็นการปฏิบัติตามม.686 วรรคหนึ่ง แล้ว ผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดชำระต้นเงินและดอกเบี้ย รวมทั้งดอกเบี้ยที่ค้างชำระเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน จนกว่าจะชำระเสร็จด้วย (ฎ.459/2565 , 2649/2565)
12. ถ้าเจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันเกิน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ก็มีอำนาจฟ้องผู้ค้ำประกัน แต่ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดเพียงใด เป็นไปตามม.686 วรรคสอง
-ม่.686 วรรคสอง "ในกรณีที่เจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง"
-คือ ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดดอกเบี้ยก่อนผิดนัด , และต้องรับผิดดอกเบี้ยหลังผิดนัด 60 วัน (ส่วนดอกเบี้ยหลังผิดนัดตั้งแต่วันที่ 61 หลุดพ้น ไม่ต้องรับผิด เพราะบอกกล่าวเกินเวลา)
-ดูวันที่หนังสือไปถึงผู้ค้ำประกัน
-ม.685/1 "บรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการค้ำประกันที่แตกต่างไปจากมาตรา 681 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาตรา 686 มาตรา 694 มาตรา 698 และมาตรา 699 เป็นโมฆะ" ถ้าตกลงให้ฟ้องผู้ค้ำประกันได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวผู้ค้ำประกัน ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ
13. สิทธิและโทษของผู้ค้ำประกัน (5 สิทธิ (ก ก ล ล ล) + 1 โทษ)
13.1) สิทธิไม่ชำระก่อนกำหนด ม.687
13.2) สิทธิเกี่ยง ม.688-690
13.3) สิทธิเมื่อเจ้าหนี้ลดหนี้ให้ลูกหนี้ ม.691
13.4) สิทธิยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ ม.694
13.5) สิทธิไล่เบี้ย (ไล่เบี้ยลูกหนี้ชั้นต้น) ม.693 , 695 , 696
13.6) โทษของผู้ค้ำประกัน ม.692
14. สิทธิเกี่ยง ม.688 , 689 , 690
-ผู้ค้ำประกันจะใช้ม.688 , 689 เกี่ยงให้เจ้าหนี้ไปฟ้องลูกหนี้ก่อนไม่ได้ แต่การจะฟ้องผู้ค้ำประกัน ปัจจุบันต้องอยู่ภายใต้บังคับม.686 ด้วย
-สิทธิเกี่ยงจะสะท้อนไปที่คำพิพากษา และชั้นบังคับคดี เมื่อเจ้าหนี้ฟ้องผู้ค้ำประกันมาพร้อมกับลูกหนี้ และความรับผิดของผู้ค้ำประกันไม่ต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้อย่างลูกหนี้ร่วม ศาลต้องพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน ถ้าลูกหนี้ไม่ชำระจึงให้ผู้ค้ำประกันชำระแทน (ฎ.3263/2562)
-ในชั้นบังคับคดี ถ้าลูกหนี้นั้นมีทางที่จะชำระหนี้ได้ และการที่จะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นจะไม่เป็นการยาก เจ้าหนี้จะต้องบังคับการชำระหนี้รายนั้นเอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน เมื่อไม่พอจึงจะบังคับการชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของผู้ค้ำประกันตามม.689 (ฎ.8454/2544 , 5462/2549)
-ม.690 "ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันไซร้ เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องให้ชำระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน"
15. ผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา จะตกลงยกเว้นไม่ใช้สิทธิเกี่ยงทั้งสามมาตราได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ได้ เพราะการตกลงไม่ใช้สิทธิเกี่ยง เสมอเท่ากับเป็นข้อตกลงให้ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม
-ม.681/1 "ข้อตกลงใดที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ
ความในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับแก่กรณีผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นนิติบุคคลและยินยอมเข้าผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ในกรณีเช่นนั้นผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้นย่อมไม่มีสิทธิดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 688 มาตรา 689 และมาตรา 690"
ความในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับแก่กรณีผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นนิติบุคคลและยินยอมเข้าผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ในกรณีเช่นนั้นผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้นย่อมไม่มีสิทธิดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 688 มาตรา 689 และมาตรา 690"
-เคยออกข้อสอบเนติ 74 ในเรื่องนิติบุคคลเป็นผู้ค้ำประกันตามม.681/1 วรรคสอง (ฎ.2326/2564)
16. ม.691 (เจ้าหนี้ทำบุญ ลดหนี้ให้ลูกหนี้ ผลบุญส่งไปถึงผู้ค้ำประกันและผู้จำนองตามม.727 ด้วย)
16. ม.691 (เจ้าหนี้ทำบุญ ลดหนี้ให้ลูกหนี้ ผลบุญส่งไปถึงผู้ค้ำประกันและผู้จำนองตามม.727 ด้วย)
-ถ้าเจ้าหนี้ลดหนี้ให้ลูกหนี้ชั้นต้นเท่าใด ไม่ว่าจะลดเฉพาะต้น หรือดอกเบี้ย หรือลดทั้งต้นทั้งดอกเบี้ย ลดแค่ไหน ผู้ค้ำประกันได้สิทธินั้นด้วย
17. ม.694 ลูกหนี้ชั้นต้นมีข้อต่อสู้อะไร ผู้ค้ำประกันขอหยิบยกต่อสู้เจ้าหนี้ได้ด้วย
17. ม.694 ลูกหนี้ชั้นต้นมีข้อต่อสู้อะไร ผู้ค้ำประกันขอหยิบยกต่อสู้เจ้าหนี้ได้ด้วย
-ม.694 "นอกจากข้อต่อสู้ซึ่งผู้ค้ำประกันมีต่อเจ้าหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันยังอาจยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วย"
-ข้อต่อสู้ของผู้ค้ำประกัน ตามสัญญาค้ำประกัน เช่น สัญญาค้ำประกันเป็นโมฆียะ , ไม่มีหลักฐานการฟ้องร้อง , ขาดอายุความ 10 ปี ม.193/30 (ฎ.7933/2559 , 2208/2558) , ข้อต่อสู้ตามม.700 ฯลฯ
-ข้อต่อสู้ของลูกหนี้ตามสัญญาประธาน เช่น ลูกหนี้ไม่ผิดสัญญา , ลูกหนี้ชำระหนี้บางส่วน , หนี้ตามสัญญาประธานขาดอายุความ รวมถึงม.1754 วรรคสาม (ฎ.2659/2546 , 5996/2544 , ข้อสอบเนติ 55 , 61 , 1110/2555 , 2770/2560) หนี้ตามสัญญาประธานระงับ , หนี้ตามสัญญาประธานไม่มีหลักฐานการฟ้อง (ข้อสอบเนติ 49) ฯลฯ
-แยกให้ดี อะไรคือข้อต่อสู้ของผู้ค้ำประกันเอง และอะไรคือข้อต่อสู้ของลูกหนี้ (และหากไม่ใช้ข้อต่อสู้ อาจสิ้นสิทธิไล่เบี้ยตามม.695 ซึ่งจะพูดในครั้งหน้า)
-ข้อสอบเนติ 49 กู้ยืมเงิน 5,000 บาท โดยไม่มีหลักฐานการกู้ยืม แต่มีผู้ค้ำประกันโดยทำหลักฐานค้ำประกันไว้ด้วย ลูกหนี้ต่อสู้ได้ว่าไม่มีหลักฐานม.653 วรรคหนึ่ง ผู้ค้ำประกันมีสิทธิยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ที่มีต่อเจ้าหนี้ได้ตามม.694 เมื่อกรณีเป็นการกู้ยืมเงิน (ปัจจุบันกว่า 2,000 บาท) ที่ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ เจ้าหนี้จะฟ้องร้องบังคับคดีให้ลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ได้ตามม.653 วรรคหนึ่ง ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิด ดังนั้น ข้อต่อสู้ที่ว่าการกู้ยืมเงินไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้นั้นรับฟังได้
-ดำเป็นหนี้ค่าสินค้าที่ซื้อมาใช้เอง 5 แสน (อายุความ 2 ปี) มีขาวเป็นผู้ค้ำประกัน มีหลักฐานการค้ำประกัน (อายุความ 10 ปี) ผ่านไป 3 ปี เจ้าหนี้ฟ้อง ดำต่อสู้ขาดอายุความ 2 ปี ได้ ขาวจึงยกข้อต่อสู้ของดำว่าขาดอายุความได้
-จะทำข้อตกลงให้ผู้ค้ำประกันสละสิทธิไม่ยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้หรือไม่ (เดิม ฎีกาเก่า ๆ เคยตกลงได้) ปัจจุบัน ม.685/1 "บรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการค้ำประกันที่แตกต่างไปจากมาตรา 681 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาตรา 686 มาตรา 694 มาตรา 698 และมาตรา 699 เป็นโมฆะ" ถ้าไปทำข้อตกลง ข้อตกลงก็เป็นโมฆะ เท่ากับไม่มีข้อตกลง ผู้ค้ำประกันก็ยกขึ้นต่อสู้ได้
-ม.694 ผู้จำนองจะยกข้อต่อสู้โดยอาศัยม.694 ไม่ได้ ไม่มีกฎหมายให้นำไปใช้
***จบการบรรยาย***
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น