สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ กฎหมายครอบครัว (ครั้งที่ 1)
สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ
กฎหมายครอบครัว (ครั้งที่ 1)
อาจารย์ชาติชาย อัครวิบูลย์
วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม 2568
**********
1. ถ้านักศึกษาทำงานและเรียนไปด้วย มีเวลาน้อย ควรอ่านทบทวนตัวบทกฎหมาย เพราะถ้าไม่ได้หลักกฎหมาย ก็ปิดหนทางที่จะปรับข้อกฎหมายในข้อสอบ
3. ลักษณะ2 บิดามารดากับบุตร ก็ยังใช้คำว่า ชาย หญิง บุตร ตามธรรมชาติ
4. การหมั้น เป็นได้ทั้ง ชายหมั้นหญิง , หญิงหมั้นชาย , ชายหมั้นชาย , หญิงหมั้นหญิง เพราะม.1437 การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายผู้หมั้นได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่ผู้รับหมั้น เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับผู้รับหมั้น
5. โครงสร้างของ บรรพ 5 ครอบครัว
ลักษณะ 1 การสมรส
หมวด 1 การหมั้น
หมวด 2 เงื่อนไขแห่งการสมรส
หมวด 3 ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส
หมวด 4 ทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส
หมวด 5 ความเป็นโมฆะของการสมรส
หมวด 6 การสิ้นสุดแห่งการสมรส
ลักษณะ 2 บิดามารดากับบุตร
หมวด 1 บิดามารดา
หมวด 2 สิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตร
หมวด 3 ความปกครอง
หมวด 4 บุตรบุญธรรม
ลักษณะ 3 ค่าอุปการะเลี้ยงดู
6. ความหมายของการหมั้น ไม่มีนิยามไว้ อาจารย์สรุปให้ว่า การหมั้นคือการที่คู่หมั้นทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าจะทำการสมรสโดยมีของหมั้น
7. หลักเกณฑ์การหมั้น
1) ต้องเป็นข้อตกลงระหว่างบุคคลสองคน ซึ่งอาจต่างเพศกันหรือไม่ก็ได้
2) เป็นข้อตกลงว่าจะสมรสกัน
*เพียงแต่ตกลงว่าจะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา โดยไม่มีเจตนาสมรสกันจริง ไม่ใช่การหมั้น
3) คู่สัญญาหมั้น มีใครบ้าง (มองในแง่ความรับผิด)
-ตัวผู้หมั้น และ ผู้รับหมั้น
-บิดามารดาของผู้หมั้นและผู้รับหมั้นที่เป็นคู่หมั้น
-บุคคลผู้กระทำในฐานะเช่นบิดามารดาของคู่หมั้น
4) การหมั้นต้องมีของหมั้น ม.1437 วรรคหนึ่ง ของหมั้นจึงเป็นสาระสำคัญ
5) การหมั้นต้องมีวัตถุประสงค์ที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
8. ลักษณะของของหมั้น
1) ต้องเป็นทรัพย์สิน อาจเป็นสิทธิเรียกร้องก็ได้ ราคามากน้อยไม่สำคัญ
2) ต้องเป็นทรัพย์สินที่ผู้หมั้นส่งมอบหรือโอนให้แก่ผู้รับหมั้น
*จะต้องมีการส่งมอบ หากไม่มีการส่งมอบ ไม่มีของหมั้น สัญญาหมั้นไม่เกิด
*จะตกลงให้เป็นหนี้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการไม่ได้ เช่น จะพาผู้รับหมั้นไปเที่ยวต่างประเทศ
*ถ้ายังไม่ส่งมอบ เพียงแต่ทำสัญญากู้เงินให้อีกฝ่ายยึดถือไว้เป็นประกัน เป็นเรื่องตกลงจะให้ทรัพย์สินในภายหน้า ไม่เป็นของหมั้น ผู้รับหมั้นจะฟ้องเรียกเงินจากผู้หมั้นตามสัญญากู้ไม่ได้ (ซึ่งต่างจากสินสอดที่สามารถฟ้องเรียกได้ เมื่อการสมรสไม่เกิดขึ้นเพราะความผิดของผู้หมั้น)
3) ของหมั้นเป็นหลักฐานว่า ผู้หมั้นจะสมรสกับผู้รับหมั้น จึงต้องมีเจตนาจะสมรส มิใช่มอบเงินให้เพื่อขอขมา เพื่ออยู่กันด้วยกัน หรือโดยไม่มีเจตนาจะจดทะเบียนสมรส
*เมื่อไม่มีเจตนาจะสมรส ก็ไม่เป็นของหมั้น ผู้หมั้นเรียกคืนไม่ได้
*การตกลงว่าจะสมรส แต่ปรากฏว่ามีอายุไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์ การหมั้นเป็นโมฆะตาม ม.1435 เรียกคืนตามหลักลาภมิควรได้ เว้นแต่รู้ว่าอายุไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์ เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ
9. ผลของของหมั้น
1) ของหมั้น ตกเป็นทรัพย์สินแก่ผู้รับหมั้น ม.1437 วรรคสอง
2) เมื่อสมรสแล้ว ให้เป็นสินส่วนตัวของคู่สมรสที่เป็นผู้รับหมั้น ม.1471 (4)
***จบการบรรยาย***
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น