สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ กฎหมายครอบครัว (ครั้งที่ 4)
สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ
กฎหมายครอบครัว (ครั้งที่ 4)
อาจารย์ชาติชาย อัครวิบูลย์
วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน 2568
**********
วันนี้อาจารย์บรรยายเรื่องการสมรส เงื่อนไขการสมรส ความสัมพันธ์ ทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส
1. กฎหมายบัญญัติข้อห้ามของการสมรสไว้ เพราะฉะนั้น อะไรที่ไม่อยู่ในข้อห้าม ก็ทำการสมรสได้ เช่น กฎหมายที่แก้ไขใหม่ ไม่มีข้อห้ามเกี่ยวกับเพศในการสมรส ตั้งแต่ 23 มกราคม 2568 บุคคลต่างเพศ เพศเดียวกัน หรือมีความหลากหลายทางเพศ ก็สามารถทำการสมรสกันได้
2. การสมรส หมายถึง บุคคลสองฝ่าย สมัครใจเป็นคู่สมรสกัน โดยมุ่งที่จะก่อให้เกิดความสัมพันธ์ตามกฎหมายครอบครัว และทำการสมรสตามแบบที่กฎหมายกำหนด
2.1) จะเป็นเพศเดียวกันหรือไม่ก็ได้
2.2) มีความสมัครใจมุ่งหมายให้ใช้ชีวิตร่วมกันฉันคู่สมรส คือ มีความสัมพันธ์ตามที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งในทางส่วนตัวและในทางทรัพย์สิน
-กรณีสมัครใจให้มีความสัมพันธ์ทางส่วนตัวเท่านั้น ไม่ประสงค์ให้เกิดความสัมพันธ์ในทางทรัพย์ ไม่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ
-กรณีไม่ประสงค์ให้มีความสัมพันธ์ในทางส่วนตัว แต่ประสงค์จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางทรัพย์สินเท่านั้น เป็นโมฆะ ม.1458 ที่บัญญัติว่า "การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลสองคนยินยอมเป็นคู่สมรสกัน..."
-เช่น ฎ.1067/2545 ไม่ได้อยู่กินด้วยกัน ไม่เคยออกค่ารักษาพยาบาล ไม่เคยเยี่ยมเยียน เพียงประสงค์จะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตกทอด , ฎ.5351/2545 จดทะเบียนสมรสกันหลอก ๆ เพื่อหวังประโยชน์ในทางการค้า
2.3) จดทะเบียนสมรส ม.1457 "การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้ จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น"
-กรณีสมรสในต่างประเทศ ม.1459
3. เงื่อนไขการสมรส หลักความรับผิดชอบ
3.1) กรณีอายุของคู่สมรส ม.1448 "การสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุสิบแปดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้"
-ต้องอายุ 18 ปีบริบูรณ์ทั้งสองฝ่าย
-ศาลอนุญาตให้สมรสก่อนอายุ 18 ปีบริบูรณ์ได้ ถ้ามีเหตุอันสมควร ซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้ร้องขอต่อศาล และศาลพิจารณาเห็นสมควรให้สมรสก่อนอายุ 18 ปีบริบูรณ์
-ฎ.2429/2541 บิดามารดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม เป็นผู้ร้องขอความยินยอมตามป.วิ.พ. ม.56
-ฝ่าฝืน ตกเป็นโมฆียะ ม.1503
-ผู้มีสิทธิเพิกถอน ม.1504 วรรคหนึ่ง คือผู้มีส่วนได้เสีย เช่น คู่สมรส บิดามารดา เว้นแต่ บิดามารดาหรือผู้ปกครองที่ให้ความยินยอมแล้ว
-ฎ.6035/2541 ความสำคัญผิดในอายุ ว่าครบ 18 ปีบริบูรณ์แล้วหรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อสมรสฝ่าฝืนต่อเงื่อนไข ไม่มีผลให้บรรลุนิติภาวะ (ความสำคัญในเรื่องอายุ ไม่เป็นข้ออ้างตามกฎหมาย)
-แม้จะเพิกถอนการสมรสไม่ได้เพราะหญิงมีครรภ์ ก็ไม่ทำให้สมรสใหม่ได้ ยังคงฝ่าฝืนม.1448 หากอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์
-การบรรลุนิติภาวะโดยเหตุแห่งการสมรส เช่น ศาลอนุญาตให้สมรส หากจะสมรสใหม่ ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ม.1454 **แต่ถ้าอายุยังไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์ ก็ต้องห้ามตามม.1448 (ม.1448 คำนึงถึงอายุเป็นสำคัญ ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นผู้เยาว์หรือความบรรลุนิติภาวะ)
3.2) ต้องไม่เป็นคนวิกลจริต หรือคนไร้ความสามารถ ม.1449
-คนวิกลจริต อาจเกิดโดยธรรมชาติ หรือการกระทำของบุคคล เช่น เสพยาเสพติด ติดสุรา , คนไร้ความสามารถ ประกาศคำสั่งในราชกิจจานุเบกษา ม.28 วรรคท้าย
-ต่างจากม.30 กระทำในขณะบุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ คู่กรณีอีกฝ่ายได้รู้ว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต , แต่ม.1449 การสมรสจะทำไม่ได้เลย แม้ไม่รู้ว่าอีกฝ่ายวิกลจริตหรือเป็นคนไร้ความสามารถ ฝ่าฝืนก็เป็นโมฆะ
-ฝ่าฝืน เป็นโมฆะ ม.1495
-สำหรับคนเสมือนไร้ความสามารถ กฎหมายไม่ได้ห้าม จึงสมรสได้ และไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ เพราะมิใช่กิจการที่ต้องได้รับความยินยอมตามม.34(1)-(11) เมื่อคนเสมือนไร้ความสามารถบรรลุนิติภาวะแล้ว เว้นแต่มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
-การฝ่าฝืนม.1449 เป็นโมฆะตามม.1495 ดูขณะที่ทำการสมรส แม้ภายหลังจะพ้นจากการเป็นคนวิกลจริต หากวิกลจริต หรือศาลเพิกถอนคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ก็ยังคงมีผลให้การสมรสนั้นเป็นโมฆะอยู่
-**ถ้าขณะสมรส ไม่เป็นคนวิกลจริต แต่ภายหลังเกิดวิกลจริตหรือถูกศาลสั่งเป็นคนไร้ความสามารถ ก็ต้องพิจารณาว่ามีเหตุหย่าตามม.1516(7) (ซึ่งมีองค์ประกอบ 3 อย่าง ม.1516 เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้..(7) คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันคู่สมรสต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้)
-ม.1449 พิจารณาแต่สภาพจิต ทางด้านความรู้สึกรับผิดชอบ ไม่เกี่ยวกับทางกาญภาพ เช่น หูหนวก ตาบอด พิการทางร่างกาย ซึ่งไม่ต้องห้าม เพียงแต่มีข้อพิจารณาในกรณีว่ามีเหตุหย่าหรือไม่ตามม.1516(10) คือ มีสภาพแห่งกายทำให้ไม่อาจร่วมประเวณีหรือไม่อาจกระทำการหรือยอมรับการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของอีกฝ่ายได้ตลอดกาล
4. เงื่อนไขการสมรส หลักศีลธรรมอันดีของประชาชน
4.1) คู่สมรสมีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต ม.1450 "บุคคลสองคนซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาก็ดี เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาก็ดี จะทำการสมรสกันไม่ได้ ความเป็นญาติดังกล่าวมานี้ให้ถือตามสายโลหิต โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นญาติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่"
-รู้หรือไม่ ไม่สำคัญ เช่น เอ รับ บีที่เป็นพี่สาวซี มาเลี้ยงเป็นลูกตั้งแต่ทารก ต่อมาซีสมรสกับบี ทำไม่ได้
-ฝ่าฝืน เป็นโมฆะ ม.1495 , 1496 แสดงโดยคำพิพากษาของศาลเท่านั้น
-ไม่ห้าม ลุง ป้า น้า อา
-ไม่ห้าม ลูกพี่ลูกน้อง
-ไม่ห้าม ลูกของลูกพี่ลูกน้องสมรสกัน
4.2) ผู้รับบุตรบุญธรรม กับ บุตรบุญธรรม ม.1451 "ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้"
-ฝ่าฝืน การรับบุตรบุญธรรมเป็นอันยกเลิก ม.1598/32
-กฎหมายไม่ห้ามผู้รับบุตรบุญธรรมสมรสกับบุตรของบุตรบุญธรรม เว้นแต่จะมีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตตามม.1450 เช่น ลุงรับหลานเป็นบุตรบุญธรรม สมรสกันได้ และสามารถสมรสกับบุตรของบุตรบุญธรรมได้ ไม่ต้องห้ามตามม.1450
-แต่ถ้าบิดารับบุตรไม่ชอบด้วยกฎหมายของตน เป็นบุตรบุญธรรม อาจสมรสกันไม่ได้ตามม.1450 และจะสมรสกับบุตรของบุตรบุญธรรมไม่ได้เช่นกัน
-บุตรของบุตรบุญธรรมสมรสกับบุตรของผู้รับบุตรบุญธรรมได้
-ผู้รับบุตรบุญธรรมรับบุตรไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นบุตรบุญธรรม บุตรไม่ชอบด้วยกฎหมายจะสมรสกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมไม่ได้ เพราะเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน
-ถ้าการรับบุตรบุญธรรมไม่สมบูรณ์ ก็ไม่มีสถานะเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรม
4.3) บุคคลที่จะทำการสมรสมีคู่สมรสอยู่แล้ว ม.1452 "บุคคลจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้" (สมรสซ้อน)
-ฝ่าฝืน เป็นโมฆะ ม.1495
-ฎ.3192/2549 การสมรสเดิมยังมีอยู่ แม้แยกกันอยู่หรือมีเหตุหย่า ก็ต้องห้าม
-กรณีคู่สมรสถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ก็ไม่ถือว่าเป็นเหตุให้การสมรสสิ้นสุดลงตามม.1501 เป็นเพียงเหตุให้ถูกฟ้องหย่าตามม.1516(5)
-ฎ.7254/2535 เป็นสามีภริยาตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย แม้มิได้จดทะเบียนสมรสภายหลังใช้บรรพ 5 ก็ยังมีฐานะเป็นสามีภริยา ห้ามสมรสซ้อน
-ฎ.6077/2537 , 1216/2520 , 6331-6332/2556 ถ้าการสมรสเดิมเป็นโมฆะ การสมรสครั้งหลังก็ไม่เป็นโมฆะเพราะสมรสซ้อน
-ไม่น่าจะใช้กับการสมรสเป็นโมฆะโดยเหตุอื่น ซึ่งต้องมีคำพิพากษาของศาลแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะก่อน ม.1496 วรรคหนึ่ง
-แต่ถ้าต่อมา ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ ก็มีผลตั้งแต่แรก จึงเท่ากับไม่มีการสมรส
-ฎ.1053/2537 น. หย่ากับ ส. จากนั้น น. สมรสกับ อ. ต่อมา ส. ฟ้อง น. ศาลพิพากษาตามยอมให้เพิกถอนการหย่า ก็ไม่เป็นการสมรสซ้อน เพราะขณะสมรสถือว่า น. ไม่มีคู่สมรส
-การสมรสแม้โดยสุจริตก็ไม่สำคัญ ถือว่าฝ่าฝืนเงื่อนไขตามกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ ม.1499 , ฎ.5859/2537 , 6788/2541 แม้ต่อมาฝ่ายใดถึงแก่ความตาย ก็ไม่ทำให้การสมรสที่เป็นโมฆะนั้นสิ้นสุดลง (ความเป็นโมฆะยังมีอยู่ ซึ่งมีผลกระทบต่อสิทธิการรับมรดก ฯลฯ) ฎ.6331-6332/2556
-การสมรสซ้ำ ไม่มีผลเป็นโมฆะ
-ฎ.6331/2556 การสมรสซ้อนเป็นโมฆะนับแต่วันสมรสซ้อน มิใช่วันจดทะเบียนหย่า
5. เงื่อนไขการสมรส หลักการให้ความคุ้มครองบุตร
ม.1453 "หญิงที่ชายผู้เป็นคู่สมรสตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่นจะทำการสมรสใหม่กับชายได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าสามร้อยสิบวัน เว้นแต่
(1) คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
(2) สมรสกับคู่สมรสเดิม
(3) มีใบรับรองแพทย์ประกาศนียบัตรหรือปริญญาซึ่งเป็นผู้ประกอบการรักษาโรคในสาขาเวชกรรมได้ตามกฎหมายว่ามิได้มีครรภ์ หรือ
(4) มีคำสั่งของศาลให้สมรสได้"
(1) คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
(2) สมรสกับคู่สมรสเดิม
(3) มีใบรับรองแพทย์ประกาศนียบัตรหรือปริญญาซึ่งเป็นผู้ประกอบการรักษาโรคในสาขาเวชกรรมได้ตามกฎหมายว่ามิได้มีครรภ์ หรือ
(4) มีคำสั่งของศาลให้สมรสได้"
-ม.1453 ไม่รวมถึงการที่ศาลมีคำพิพากษาแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ ม.1536 วรรคสอง , 1538
-หญิงที่ชายผู้เป็นคู่สมรสตาย หรือการสมรสสิ้นสุดลง ต้องห้ามมิให้สมรสใหม่ภายใน 310 วัน (ระยะเวลาตั้งครรภ์)
-ฝ่าฝืน กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าเป็นโมฆะ หรือโมฆียะ จึงมีผลสมบูรณ์
-ถ้าหญิงคลอดบุตรภายใน 310 วัน ให้สันนิษฐานว่าเป็นบุตรของชายผู้เป็นคู่สมรสคนใหม่ ม.1537
-หลังผ่านพ้น 310 วัน นับแต่สมรสแล้ว จะเข้าข้อสันนิษฐานตามม.1536 วรรคหนึ่ง
-ถ้าการสมรสไม่ฝ่าฝืนม.1453 ข้อสันนิษฐานเรื่องบุตรเป็นไปตามม.1536 วรรคหนึ่ง
ครั้งหน้าเรื่องเงื่อนไขการสมรส หลักการให้ความเห็นชอบในการสมรส
-กรณีผู้เยาว์ จะต้องได้รับความยินยอมในการสมรส ม.1454 "ผู้เยาว์จะทำการสมรสให้นำความในมาตรา 1436 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" แม้จะครบ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ยังเป็นผู้เยาว์อยู่ อำนาจปกครองยังเป็นบิดามารดา หลักความยินยอมคล้ายการหมั้น ม.1436
-บุคคลทั้งสองคนยินยอมเป็นคู่สมรสกัน ม.1458
***จบการบรรยาย***
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น