สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (ครั้งที่ 6-7)

สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ
กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (ครั้งที่ 6-7)
อาจารย์ชัชชม อรรฆภิญญ์
วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม 2568
**********

1. วันนี้เป็นการบรรยายกฎหมายสิทธิบัตรครั้งแรกจากทั้งหมด 5 ครั้ง

2. สิทธิบัตร (patent) คือ หนังสือสำคัญที่ (รัฐ-กรมทรัพย์สินทางปัญญา) ออกให้ เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ (ตามที่กำหนดในหมวด 2 และหมวด 3 แห่งพ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522
-ขอบข่ายของสิทธิบัตรมีอยู่ 2 เรื่อง คือ การประดิษฐ์ กับการออกแบบผลิตภัณฑ์
-เครื่องหมายการค้า (trademark) กับลิขสิทธิ์ (copyright) มีสิทธิได้โดยไม่ต้องจดทะเบียน , แต่สิทธิบัตร (patent) ต้องจดทะเบียนจึงจะได้รับสิทธิได้รับความคุ้มครอง

3. สิทธิบัตร แบ่งออก 3 ประเภทใหญ่ ๆ
3.1) สิทธิบัตรการประดิษฐ์ มีอายุ 20 ปี นับแต่วันขอรับสิทธิบัตร (อันนี้แปลก ต้องจำ) ตามม.35
-ลักษณะของสิทธิบัตรการประดิษฐ์ 3 ประการ ตามม.5 คือ เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ (ม.6) มีขั้นประดิษฐ์ที่สูงขึ้น สามารถประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมได้ 
3.2) อนุสิทธิบัตร มีกำหนด 6 ปี ต่ออายุได้อีก 2 ครั้ง ๆ ละ 2 ปี ตามม.65 สัตต
-ไม่จำเป็นต้องมีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น
3.3) สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ มีอายุ 10 ปี นับแต่วันขอรับสิทธิบัตร ตามม.62

4. การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ม.6
-ได้แก่ การประดิษฐ์ที่ไม่เป็น "งานที่ปรากฏอยู่แล้ว" งานที่ปรากฏอยู่แล้ว คือ สิ่งที่มีอยู่ในเวลานั้น หรือเป็นการประดิษฐ์ที่มีอยู่แล้วในขณะนั้น คือในขณะที่ขอรับสิทธิบัตร ***โดยไม่คำนึงถึงว่าผู้ประดิษฐ์จะรู้หรือไม่รู้ ถ้ามีมาก่อน ถือว่าไม่ใหม่ (เวลาตรวจสอบสิทธิบัตร สามารถตรวจสอบได้ทั่วโลก , ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ออกสิทธิบัตรโดยผิดหลง เมื่อพิสูจน์กันได้ว่าเป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้วในต่างประเทศ ก็เพิกถอนได้)
-ฎ.872/2538 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยร่วมกันทำเทียมและเลียนแบบผลิตภัณฑ์ม่านเหล็กบังตาตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของโจทก์ เมื่อได้มีการออกสิทธิบัตรการประดิษฐ์ม่านเหล็กบังตาแบบยืดและพับได้ไว้ในต่างประเทศก่อนโจทก์ยื่นคำขอรับสิทธิบัตร มิใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ที่โจทก์จะขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ได้ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตรพ.ศ.2522 มาตรา 5 ทั้งนี้โดยไม่คำนึงว่าโจทก์จะรู้หรือไม่รู้ สิทธิบัตรการประดิษฐ์ของโจทก์จึงเป็นสิทธิบัตรที่ได้ออกโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 5 ดังกล่าวซึ่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตรพ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ การประดิษฐ์ตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของโจทก์ จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตรพ.ศ.2522 แต่ประการใด แม้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันผลิตและขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ก็ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ (ก่อนที่จะดำเนินคดีกับใคร ต้องมั่นใจว่าของตัวเองใหม่จริง ๆ โจทก์ฟ้องจำเลย แต่เมื่อเป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว สิทธิบัตรจึงออกโดยไม่ชอบ ย่อมถูกเพิกถอน)
-ฎ.2703/2546 การประดิษฐ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรได้ ต้องประกอบด้วยลักษณะตามม.5 ทั้งสามประการ จะขาดข้อใดไปไม่ได้ เมื่อการประดิษฐ์วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มตามสิทธิบัตรของจำเลย ไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่แล้ว การประดิษฐ์ของจำเลยจึงไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้ ดังนั้น สิทธิบัตรของจำเลยที่ได้ออกไปโดยไม่ชอบด้วยม.5 จึงเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์และย่อมถูกเพิกถอนได้ตามม.54
-ฎ.5003/2563 ข้อถือสิทธิตามอนุสิทธิบัตรที่มิใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามพ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 (คำว่า "ข้อถือสิทธิ" จะได้พูดในชั่วโมงต่อไป "ข้อถือสิทธิ" คือ สิ่งที่ผู้ขอรับสิทธิบัตรบอกว่าตนขอมีสิทธิเรื่องใด ได้รับความคุ้มครองเรื่องใด ส่วนอื่น ๆ ไม่ได้ขอความคุ้มครอง เช่น ยานยนต์ไร้คนขับ ขอความคุ้มครองที่กลไกให้รถแล่นไปได้อย่างปลอดภัยโดยไม่มีคนขับ ส่วนเบาะ เกียร์ พวงมาลัย ไม่ขอความคุ้มครอง เพราะมีมานานแล้ว ขอก็ไม่ได้)

5. ม.6 วรรคสอง งานที่ปรากฏอยู่แล้ว ให้หมายความรวมถึงการประดิษฐ์ดังต่อไปนี้ด้วย
5.1) การประดิษฐ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร
-แพร่หลายไม่จำต้องเป็นจำนวนมาก แต่ต้องเผยแพร่ไปสู่สาธารณชนในประเทศไทย
-ฎ.4518/2550 
-ฎ.2448/2554
5.2) การประดิษฐ์ที่ได้มีการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้ว ไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักร ก่อนวันขอรับสิทธิบัตร และไม่ว่าการเปิดเผยนั้นจะกระทำโดยเอกสาร สิ่งพิมพ์ การนำออกแสดง หรือการเปิดเผยต่อสาธารณชนด้วยประการใด
-การเปิดเผยทั่ว ๆ ไป แต่ต้องมีลักษณะการเปิดเผยต่อสาธารณชนไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ และไม่ว่าจะเปิดเผยในหรือนอกราชอาณาจักร หากมีการเปิดเผยแล้ว ถือว่าเป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว
-ฎ.4783/2549
5.3) การประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรแล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร
5.4) การประดิษฐ์ที่มีผู้ขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรไว้แล้วนอกราชอาณาจักรเป็นเวลาเกินสิบแปดเดือนก่อนวันขอรับสิทธิบัตร แต่ยังมิได้มีการออกสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรให้
5.5) การประดิษฐ์ที่มีผู้ขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรไว้แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักร และได้ประกาศโฆษณาแล้วก่อนวันขอรับสิทธิบัตรในราชอาณาจักร

6. "วันขอรับสิทธิบัตร" มีข้อพิจารณา 3 กรณี
6.1) กรณีแรก คือ วันที่มีการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรและเจ้าหน้าที่รับคำขอนั้น
6.2) กรณีที่สอง คือ ม.19 มีการนำเอาการประดิษฐ์ออกแสดงในงานแสดงต่อสาธารณชน ซึ่งหน่วยงานรัฐเป็นผู้จัดหรืออนุญาตให้มีขึ้นในราชอาณาจักร และยื่นคำขอรับสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์นั้นภายใน 12 เดือน นับแต่วันเปิดงานแสดง ให้ถือว่าได้ยื่นคำขอนั้นในวันเปิดงานแสดงนั้น เช่น รัฐจัดแสดงงานประดิษฐ์ ดำเอางานออกแสดง ผ่านไป 9 วัน แดงมายื่นขอรับสิทธิบัตร หลังจากนั้น 11 เดือน ดำมายื่นขอรับสิทธิบัตร ดำมีสิทธิได้เพราะอยู่ภายใน 12 เดือน 
6.3) กรณีที่สาม คือ ม.19 ทวิ บุคคลตามม.14 ที่ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์ไว้นอกราชอาณาจักร ถ้ายื่นขอรับสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์นั้นในราชอาณาจักร ภายใน 12 เดือน นับแต่วันที่ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรนอกราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก บุคคลนั้นจะขอให้ระบุว่าวันที่ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรนอกราชอาณาจักรเป็นครั้งแรกเป็นวันที่ได้ยื่นคำขอในราชอาณาจักรก็ได้

***จบการบรรยาย***

ความคิดเห็น

10 บทความยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (44 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 (20 ข้อ)