สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (ครั้งที่ 5)

สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ
กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (ครั้งที่ 5)
อาจารย์ตุล เมฆยงค์
วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน 2568
**********

1. วันนี้เป็นการบรรยายกฎหมายเครื่องหมายการค้าครั้งสุดท้าย นักศึกษาต้องทำความเข้าใจ กฎหมายเครื่องหมายการค้าคุ้มครองอะไร คุ้มครองสิทธิ สิทธิเกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดโดยการจดทะเบียนกับไม่จดทะเบียน แต่ระดับของสิทธิแตกต่างกัน เครื่องหมายการค้าใดจดทะเบียนได้ ภายใต้เงื่อนไขใด

2. สิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน
-เป็นการจดทะเบียนในประเทศไทย ถ้าจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ต่างประเทศ ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย แม้จะมีสินค้าขายในประเทศไทย ก็ไม่ได้ถือเป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนในประเทศไทย
2.1) มีสิทธิแต่ผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนนั้นสำหรับสินค้าที่จดทะเบียนไว้ ม.44 หากมีสินค้าเพิ่มขึ้นหรือขยายแบรนด์ แต่สินค้าใหม่ไม่ได้จดทะเบียน ก็ไม่อยู่ในฐานะเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน
-สิทธิแต่ผู้เดียวนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะตัวเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันถึงขนาดที่เมื่อนำไปใช้แล้วอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเข้าของหรือแหล่างกำเนิดของสินค้าด้วย
2.2) สิทธิในการคัดค้านการขอจดทะเบียนตามม.35 , สิทธิร้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนตามม.61 , และสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนตามม.67 (ม.67 เคยมีการเสนอออกข้อสอบเนติ แต่ไม่ได้รับเลือก)

3. ข้อยกเว้นสิทธิแต่ผู้เดียวของเจ้าของเครื่องหมายการค้า
3.1) กรณีเป็นเครื่องหมายการค้าซึ่งต่างเจ้าของต่างได้ใช้มาแล้วด้วยกันโดยสุจริต หรือมีพฤติการณ์พิเศษ ม.27
-ฎ.4052/2555 การใช้เครื่องหมายการค้าอันจะถือว่าต่างเจ้าของต่างได้ใช้มาแล้วโดยสุจริต ที่จะถือว่าเป็นเหตุให้ควรรับจดทะเบียนได้ตามนัยม.27 ต้องเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าโดยสุจริต โดยมีการขายหรือโฆษณาสินค้าภายในดินแดนประเทศไทย ตามหลักการที่กฎหมายย่อมใช้บังคับเฉพาะในเขตดินแดนแห่งรัฐที่ออกกฎหมายเท่านั้น
3.2) กรณีเจ้าของเครื่องหมายการค้าทำสัญญาอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้าของตน ม.68
-ม.68 "เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วจะทำสัญญาอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้าของตน สำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ทั้งหมดหรือบางอย่างก็ได้
  สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าตามวรรคหนึ่ง ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียน
  การขอจดทะเบียนสัญญาอนุญาตดังกล่าวตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่คำขอจดทะเบียนนั้นอย่างน้อยต้องแสดงรายการดังต่อไปนี้
  (1) เงื่อนไขหรือข้อกำหนดระหว่างเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น และผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาต ที่จะทำให้เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นสามารถควบคุมคุณภาพของสินค้าของผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาตได้อย่างแท้จริง
  (2) สินค้าที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้น"
3.3) บุคคลอื่นมีสิทธิในการใช้โดยสุจริตซึ่งชื่อตัว ชื่อสกุล หรือชื่อสำนักงานการค้าของตนหรือของเจ้าของเดิมของกิจการของตน ม.47
3.4) บุคคลบุคคลมีสิทธิในการใช้คำบรรยายโดยสุจริตลักษณะหรือคุณสมบัติแห่งสินค้าของตน

4. เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน
-เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้มาโดยการใช้ ยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย
-ผู้ที่จดทะเบียนสำหรับสินค้าใดก็เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนเฉพาะสินค้านั้น สำหรับสินค้าอื่นก็ถือเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าไม่จดทะเบียน

5. สิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่จดทะเบียน 
-ม.46 "บุคคลใดจะฟ้องคดี เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน หรือเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดสิทธิดังกล่าว ไม่ได้
  บทบัญญัติมาตรานี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน ในอันที่จะฟ้องคดีบุคคลอื่นซึ่งเอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น"
-ข้อสอบเนติ/ผู้ช่วยฯ ถ้าออกสอบเรื่องการละเมิดเครื่องหมายการค้าฯ ก็จะออกม.46
-นำป.พ.พ.ม.420 , 421 มาใช้ประกอบกับบทบัญญัติที่รับรองสิทธิของเจ้าของสิทธิในเครื่องหมายการค้า
-การลวงขาย (passing off) โดยหลักเป็นเรื่องการละเมิดอย่างหนึ่ง ที่โดยหลักไม่ได้เกี่ยวกับสิทธิในเครื่องหมายการค้าโดยตรง แต่การลวงขายที่มีพฤติการณ์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีการใช้แล้ว ไม่ว่าจะจดทะเบียนแล้วหรือไม่จดทะเบียนก็ตาม จึงเป็นกรณีตามม.46 วรรคสอง
-ในการฟ้องคดีต่อผู้ละเมิดสิทธิด้วยการลวงขาย มีสิทธิฟ้องเพื่อห้ามผู้กระทำละเมิดกระทำการลวงขายต่อไป และยังสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ด้วย แต่จะห้ามถึงขนาดห้ามใช้เครื่องหมายการค้านั้นทุกกรณีไม่ได้ (ผู้อื่นถ้าใช้อย่างไม่ลวงขายย่อมใช้ได้ เพราะเจ้าของเครื่องหมายการค้าไม่จดทะเบียนไม่มีสิทธิแต่ผู้เดียว)
-การฟ้องต้องบรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้กระทำการลวงขายอย่างไร อันจะถือเป็นการละเมิดสิ?ธิโดยการลวงขาย มิฉะนั้น จะไม่มีประเด็นให้ศาลพิจารณาพิพากษาในเรื่องการลวงขาย
5.1) มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าเพื่อแสดงความเกี่ยวพันระหว่างสินค้ากับเจ้าของเครื่องหมายการค้า แต่ไม่มีสิทธิใช้แต่ผู้เดียว
5.2) สิทธิคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าม.35 , สิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าม.67
ไม่มีสิทธิห้ามผู้อื่นใช้เครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกัน เว้นแต่กรณีลวงขาย

6. การระงับไปซึ่งสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (exhaustio of ip rights)
-เมื่อเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาได้จำหน่ายหรือยินยอมให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์หรือสำเนางานหรือสินค้าซึ่งอยู่ภายใต้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาย่อมระงับลงในประการที่เจ้าของสิทธิไม่อาจหวงห้ามการจำหน่ายจ่ายโอนตัวผลิตภัณฑ์หรือสำเนางานหรือสินค้าภายใต้ทรัพย์สินทางปัญญานั้นอีกต่อไปไม่ได้
-ฎ.2817/2543 เมื่อผู้ผลิตสินค้าที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ได้จำหน่ายสินค้าของตนในครั้งแรก ซึ่งได้รับประโยชน์จากการใช้เครื่องหมายการค้านั้นจากราคาสินค้าที่จำหน่ายไปเสร็จสิ้นแล้ว จึงไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้ซื้อสินค้าซึ่งประกอบการค้าปกตินำสินค้านั้นออกจำหน่ายอีกต่อไป โจทก์ที่ 1 ผู้ผลิตสินค้าปัตตะเลี่ยน ไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้จำเลยนำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงที่จำเลยซื้อจากตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ที่ 1 ในประเทศสิงคโปร์มาจำหน่ายในประเทศไทยได้ โจทก์ที่ 2 เป็นผู้นำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า "WAHL" ของโจทก์ที่ 1 จากประเทศสหรัฐอเมริกามาจำหน่ายในประเทศไทย โจทก์ที่ 1 ไม่ได้ตั้งให้โจทก์ที่ 2 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 ในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว โจทก์ที่ 2 จึงเป็นเพียงผู้นำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจากโจทก์ที่ 1 มาจำหน่ายในประเทศไทยผู้หนึ่งเท่านั้น การที่จำเลยนำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า "WAHL" เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย จึงไม่เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 ตามป.พ.พ. ม.421

7. การเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหายการค้า 4 กรณี
7.1) เพิกถอนโดยผลของกฎหมาย
-เจ้าของเครื่องหมายการค้าต้องยื่นคำขอต่อการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและชำระค่าธรรมเนียมภายใน 3 เดือน ก่อนสิ้นอายุ ตามม.54 วรรคหนึ่ง แต่ถ้าไม่ได้ดำเนินการภายในกำหนดดังกล่าว ยังสามารถดำเนินการได้ภายใน 6 เดือน นับแต่วันสิ้นอายุการจดทะเบียน แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มอีกร้อยละ 20 ตามม.54 วรรคสอง
-ม.54 เจ้าของเครื่องหมายการค้าไม่ได้ยื่นคำขอต่ออายุและชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุ ภายใน 6 เดือน นับแต่วันสิ้นอายุการจดทะเบียน (10 ปี นับแต่วันยื่นคำขอจดทะเบียน ม.53 , 42) ให้ถือว่าเครื่องหมายการค้านั้นได้ถูกเพิกถอนการจดทะเบียนแล้ว ม.56 , 54 วรรคสอง
7.2) เพิกถอนโดยคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า
7.3) เพิกถอนโดยคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า
7.4) เพิกถอนโดยคำพิพากษาของศาล
-ม.66 "ผู้มีส่วนได้เสียหรือนายทะเบียนอาจร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใดได้ หากแสดงได้ว่าในขณะที่ร้องขอนั้นเครื่องหมายการค้านั้นได้กลายเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าบางอย่างหรือบางจำพวก จนกระทั่งในวงการค้าหรือในสายตาของสาธารณชน เครื่องหมายการค้านั้นได้สูญเสียความหมายของการเป็นเครื่องหมายการค้าไปแล้ว"
-กรณีที่ได้ความว่าขณะร้องขอ เครื่องหมายการค้านั้นได้กลายเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าบางอย่างหรือบางจำพวก จนกระทั่งในวงการค้าหรือในสายตาของสาธารณชน เครื่องหมายการค้านั้นได้สูญเสียความหมายของการเป็นเครื่องหมายการค้าไปแล้ว ม.66 เช่น Hula Hoop , Aspirin , Dry Ice
-ผู้มีสิทธิร้องขอ คือ ผู้มีส่วนได้เสียหรือนายทะเบียน
-ม.67 "ภายในห้าปีนับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใดตามมาตรา 40 ผู้มีส่วนได้เสียอาจร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ หากแสดงได้ว่าตนมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าผู้ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น
  ถ้าผู้ร้องแสดงได้แต่เพียงว่า ตนมีสิทธิดีกว่าเฉพาะสินค้าบางอย่างในจำพวกของสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ ให้ศาลมีคำสั่งจำกัดสิทธิแห่งการจดทะเบียนให้อยู่เฉพาะสินค้าที่ผู้ร้องไม่ได้แสดงว่าตนมีสิทธิดีกว่า"
-ม.67 มีคดีเยอะ
-ผู้มีสิทธิขอต่อศาล คือ ผู้มีส่วนได้เสียที่เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าผู้ที่ได้รับการจดทะเบียนไว้
-เหตุที่ขอเพิกถอน คือ ผู้ร้องมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าผู้ที่ได้รับการจดทะเบียนไว้ (ปกติผู้ที่ใช้มาก่อนถือว่ามีสิทธิดีกว่า อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาถึงความสุจริตด้วย , อาจเป็นกรณีตามม.27 ก็ได้)
-ต้องฟ้องต่อศาลภายใน 5 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งรับจดทะเบียนตามม.40 เป็นเรื่องระยะเวลา ไม่ใช่อายุความ

8. สรุปสิ่งที่นักศึกษาต้องรู้***
-ม.6 เงื่อนไขการจดทะเบียน ม.6(1)+7 , ม.6(2)+8 , ม.6(3)+13
-ม.27 จดทะเบียน
-ม.44 สิทธิแต่ผู้เดียว (กรณีมีการจดทะเบียน)
-ม.46 สิทธิ (กรณีไม่มีการจดทะเบียน) และดูว่าลวงขายหรือไม่
-ม.61 , 63 (ยังไม่เคยออกข้อสอบเนติ) , 67

***จบการบรรยาย***

ความคิดเห็น

10 บทความยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (44 ข้อ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

การฎีกาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของพนักงานอัยการโจทก์กับจำเลยที่แตกต่างกัน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 22/2565)