สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (ครั้งที่ 1-2)

สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ
กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (ครั้งที่ 1-2)
อาจารย์ตุล เมฆยงค์
วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤษภาคม 2568
**********

1. อาจารย์รับผิดชอบในส่วนของกฎหมายเครื่องหมายการค้า ทั้งหมด 5 ครั้ง 

2. ทรัพย์สินทางปัญญา หมายถึง ผลงานหรือสิ่งสร้างสรรค์หรือการประดิษฐ์หรือการพัฒนาที่เกิดจากความคิด สติปัญญาของบุคคล ซึ่งกฎหมายให้สิทธิและความคุ้มครอง
-ตามปกติ สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเฉพาะ ไม่อยู่ภายใต้บังคับ ป.พ.พ. เว้นแต่ในกรณีไม่มีบทบัญญัติไว้โดยเฉพาะ อาจนำ ป.พ.พ. มาบังคับใช้โดยอนุโลมในฐานะกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง

3. หลักการให้ความคุ้มครอง
1) พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 (ไม่มีการจดทะเบียนเพื่อรับความคุ้มครอง)
-คุ้มครองการแสดงออกซึ่งความคิดในรูปแบบที่กฎหมายกำหนด 
-คุ้มครองธรรมสิทธิหรือสิทธิทางศีลธรรม 
-คุ้มครองแก่สิทธิข้างเคียง ได้แก่ สิทธิของนักแสดง 
-คุ้มครองแก่มาตรการทางเทคโนโลยี 
2) พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 (ต้องจดทะเบียนเพื่อรับความคุ้มครองเสมอ)
-คุ้มครองความคิด (idea) ในการประดิษฐ์ (invention) ผลิตภัณฑ์และกรรมวิธี และการออกแบบผลิตภัณฑ์ (product design)
3) พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 (มีระบบจดทะเบียน ถ้าไม่จดทะเบียนก็อาจได้รับความคุ้มครองในระดับที่ต่ำกว่า)
-คุ้มครองสิทธิการใช้เครื่องหมายการค้า รวมทั้งเครื่องหมายบริการและเครื่องหมายรับรอง

4. หัวข้อสำคัญในการศึกษากฎหมายเครื่องหมายการค้า
1) การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
2) สิทธิของเจ้าของสิทธิในเครื่องหมายการค้า และการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้า
3) การเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
4) การอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า
5) ความผิดอาญาเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า
*ข้อสอบมักจะออกสลับกันระหว่างการจดทะเบียน กับการละเมิดสิทธิ ที่ผ่านมายังไม่เห็นข้อสอบการเพิกถอน , ในช่วง 10 ปี ข้อสอบทรัพย์สินทางปัญญาไม่เอามาจากคำพิพากษาฎีกา ให้ตอบจากหลักกฎหมาย

5. พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
-พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543
-พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2559

6. นิยามศัพท์สำคัญ
-"เครื่องหมาย" , "เครื่องหมายการค้า" , "เครื่องหมายบริการ" , "เครื่องหมายรับรอง" , "เครื่องหมายร่วม"

7. วัตถุประสงค์ของเครื่องหมายการค้า
-เพื่อจำแนกหรือแยกให้เห็นว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างจากสินค้าของผู้อื่น
-เพื่อบ่งบอกให้สาธารณชนได้รู้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นเป็นสินค้าของผู้ใด
-เพื่อมีผลให้สาธารณชนได้คาดเห็นถึงคุณภาพของสินค้า
-เพื่อผลในการส่งเสริมการขายหรือการประชาสัมพันธ์สินค้า

8. การได้มาซึ่งสิทธิในเครื่องหมายการค้า มี 2 ลักษณะ
1) ได้มาโดยการจดทะเบียน (จดทะเบียน แม้ยังไม่ได้ใช้)
2) ได้มาโดยการใช้ การนำเครื่องหมายการค้าไปใช้กับสินค้าหรือได้มีการโฆษณาโดยใช้เครื่องหมายการค้าให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน (ใช้เครื่องหมาย แม้ยังไม่ได้จดทะเบียนก็ได้สิทธิ แต่สิทธิต่ำกว่าการจดทะเบียน)

9. ม.6 ลักษณะของเครื่องหมายการค้าที่พึงรับจดทะเบียน (เป็นมาตราหลักที่ต้องทราบ)
1) เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ คือ ม.7 
2) เป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามกฎหมาย คือ ม.8
3) ไม่เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่บุคคลอื่นได้จดทะเบียนไว้แล้ว (จดในประเทศไทย) คือ ม.13
*ถ้าถามว่าเป็นเครื่องหมายที่จดทะเบียนได้ไหม ก็ต้องดู 3 เงื่อนไขนี้
*คดีแพ่งที่เข้าสู่ศาลทรัพย์สินทางปัญญามากที่สุดก็คือคดีเรื่องการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

10. ม.7 เครื่องหมายที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ทำให้ทราบว่าแตกต่างจากสินค้าอื่น ม.7(1)-(11) ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ

11. ม.7(1) กรณีนามสกุล ถ้าคนเข้าใจว่า "ชินวัตร" "หลีกภัย" เป็นนามสกุล แบบนี้ถือว่าไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ
-กรณีคำว่า "ที่แสดงลักษณะพิเศษและไม่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง" เช่น นายสะอาด ทำน้ำยาล้างห้องน้ำยี่ห้อสะอาด เป็นสิ่งที่แสดงคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง เบื้องต้นถือว่าไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ
-ฎ.6616/2560 "VALENTINO" เป็นชื่อของบุคคลธรรมดา ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าชื่อของ ว. เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดาของประชาชนในประเทศไทย ย่อมมีลักษระบ่งเฉพาะในตัวเอง โดยไม่จำต้องแสดงโดยลักษณะพิเศษอีก เนื่องจากข้อความว่า "ที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ" ใน ม.7 วรรคสอง (1) เป็นคำขยายของคำว่า "ชื่อทางการค้า" เท่านั้น มิได้รวมไปถึงชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ทั้งคำดังกล่าวก็มิได้เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าตามที่โ๗ทก์ขอจดทะเบียนโดยตรง ดังนั้น คำว่า "VALENTINO" จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ 
-ฎ.66/2566 ...ประกอบกับเจตนารมณ์โดยทั่วไปของ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ ม.7 วรรคหนึ่ง มุ่งหมายจะคุ้มครองสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนในลักษณะต้องเป็นเครื่องหมายที่ใช้ประโยชน์ในการแยกแยะความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เพื่อมิให้สาธารณชนเกิดความสับสนหรือหลงผิดในการเลือกซื้อสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้น ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างจากสินค้าอื่น... 

12. ม.7(2) คำหรือข้อความอันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง และไม่เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
-ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดชื่อทางภูมิศาสตร์ (21 ก.ค.2559) (1) ชื่อประเทศ ชื่อกลุ่มประเทศ ชื่อภูมิภาค หรือเขตปกครองตนเองซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับประเทศ (2) ชื่อแคว้น รัฐ หรือมณฑล หรือชื่อเมืองหลวงของประเทศ (3) ชื่อมหาสมุทร (4) ชื่อทางภูมิศาสตร์อื่น ๆ ที่ประชาชนโดยทั่วไปรู้จักกันแพร่หลาย เช่น เขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ คาบสมุทร ทะเล อ่าว เกาะ ทะเลสาบ ภูเขา แม่น้ำ จังหวัด เมืองท่า อำเภอ ถนน เป็นต้น ชื่อทางภูมิศาสตร์ข้างต้น ให้หมายความรวมถึงชื่อย่อ ชื่อเดิม หรือชื่อที่ใช้เรียกขานทั่วไปโดยไม่จำกัดเฉพาะชื่อในทางราชการ
-ตัวอย่างคำหรือข้อความที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง
DERMACREAM สินค้าของเหลว หรือครีมสำหรับผิวหนัง
AUTOCLEAR และ AUTOSURFACE สินค้าจำพวกสีทาและสีพ่น น้ำมันชักเงา แลกเกอร์ สารกันสนิม และสารป้องกันการเสื่อมสภาพของไม้
COOKIES CRISP สินค้าธัญพืช และอาหารต่าง ๆ ที่ทำจากธัญพืช
POPCORN CHICKEN สินค้า 18 รายการที่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ เน้นที่สัตว์ปีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีไก่เป็นส่วนผสม
TIMEWALKER สินค้านาฬิกาข้อมือ นาฬิกาพก และนาฬิกาแขวน
DERMACREAM สินค้าโลชั่นใช้กับเด็กอ่อน สินค้าผ้าอ้อมทำด้วยกระดาษและ/หรือเซลลูโลสหรือกระดาษทำความสะอาดเพื่อสุขอนามัยที่ชุบด้วยสารทำความสะอาดและ/หรือชุบด้วยโลชั่นสำหรับเด็กอ่อน
CREATING-CONCEPT บริการจำพวกที่เกี่ยวกับการเสนอความคิดสร้างสรรค์
-ตัวอย่างคำหรือข้อความที่ไม่ถือว่าเล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง
CONCERT สินค้าวิทยุ ตู้ลำโพง โทรทัศน์ เครื่องวิดีโอ เครื่องขยายเสียง
ARMURE สินค้ายาปราบศัตรูพืช ยาฆ่าเชื้อรา ยาฆ่าวัชพืช ยาฆ่าแมลง
BIOFRESH สินค้าเครื่องแช่เย็นและเครื่องแช่แข็ง
DR PEPPER สินค้าน้ำดื่ม น้ำอัดลมและน้ำหวาน
MONSTER POWER สินค้าเครื่องควบคุมพลังงานไฟฟ้า
AQUAFEED สิงค้าอาหารกุ้ง
COOLAIR สินค้าขนมขบเคี้ยว หมากฝรั่ง
COURTYARD บริการโรงแรม สถานที่ตากอากาศ ค่ายพักแรม ภัตตาคาร การบริการสิ่งอำนวยความสะดวกทั่วไปสำหรับการประชุม

13. ม.7(3) คำที่ประดิษฐ์ขึ้น คือ คำที่สร้างขึ้นใหม่ ไม่ใช่คำที่ใช้กันอยู่และมีความหมาย เช่น Pepsi , Google

***จบการบรรยาย***

ความคิดเห็น

10 บทความยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.สถิติ พ.ศ. 2550 (ฉบับเตรียมสอบ)

สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ กฎหมายยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ (ครั้งที่ 2-3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ พ.ศ.2562