สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ กฎหมายนิติกรรม สัญญา (ครั้งที่ 6)

สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ
กฎหมายนิติกรรม สัญญา (ครั้งที่ 6)
อาจารย์นรินทร ตั้งศรีไพโรจน์
วันพุธที่ 2 กรกฎาคม 2568
**********

1. วันนี้อาจารย์จะทบทวนเรื่องนิติกรรมอำพราง ไม่ได้ออกข้อสอบนานแล้ว นักศึกษาต้องให้ความสำคัญด้วย
-ลักษณะสำคัญของนิติกรรมอำพราง 3 ประการ คือ คู่กรณีแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้น 2 นิติกรรม ถ้าเจอข้อสอบมีหลายนิติกรรม อาจจะเข้าข่ายเรื่องนี้ ปัญหาคือต้องดูให้ดีว่ามีกี่นิติกรรม , นิติกรรมที่ปรากฏออกมาคู่กรณีประสงค์จะให้นิติกรรมอำพรางนั้นไม่มีผลบังคับระหว่างกันเอง และนิติกรรมที่ถูกปกปิดมิได้แสดงให้ปรากฏ คู่กรณีประสงค์จะให้นิติกรรมที่ถูกอำพรางนั้นมีผลบังคับระหว่างกันเอง 

2. ครั้งที่แล้ว อาจารย์ยกตัวอย่าง ฎ.5792/2558 (ฎ.5057/2558) น่าสนใจ ขอให้นักศึกษาอ่าน จะเข้าใจหลักเรื่องนิติกรรมอำพรางได้ถ่องแท้ ฎีกาเดียวได้หลายวิชา ไม่ออกข้อสอบเนติ ก็ต้องออกผู้ช่วย ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
-ตอบข้อสอบบางครั้ง ลอกฎีกามาโดยไม่ใส่เหตุผล จะไม่ได้คะแนน ต้องให้เหตุผลด้วย 

3. นอกจากนี้มีฎีกาอีก 2 ฎีกา ที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ฎ.10834/2556 , 6881/2560
-ฎ.10834/2556 แม้คู่กรณีในเรื่องนิติกรรมอำพรางจะต้องมีเพียงคู่เดียวก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์เป็นสามีของ อ. ผู้กู้ ทั้งยังเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญากู้เงิน ซึ่งโจทก์มีความประสงค์ต้องการใช้เงิน แสดงว่าโจทก์มีส่วนได้เสียในเงินกู้ดังกล่าวด้วย การที่โจทก์และ อ. ทำนิติกรรมดังกล่าว จึงมีผลประโยชน์ร่วมกัน และถือได้ว่าเป็นฝ่ายเดียวกัน แม้คู่กรณีในนิติกรรมขายฝากจะเป็นนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลย ส่วนนิติกรรมการกู้ยืมเป็นนิติกรรมระหว่าง อ. กับจำเลย ก็ถือได้ว่าคู่กรณีในนิติกรรมทั้งสองนิติกรรมนั้นเป็นคู่กรณีเดียวกัน ฟังได้ว่านิติกรรมขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืม จึงตกเป็นโมฆะตามม.155 วรรคหนึ่ง ต้องบังคับตามสัญญากู้เงินตามม.155 วรรคสอง (ฎ.651/2565)
-ฎ.6881/2560 โจทก์ประสงค์จะจำนองที่ดินตามฟ้องเพื่อประกันการกู้ยืมเงินจากจำเลย แต่เมื่อจำเลยขอให้ทำเป็นสัญญาขายฝาก โจทก์ก็ยินยอมเพียงแต่อ้างว่าไม่มีทางเลือก ซึ่งจะเห็นได้ว่าโจทก์ยินยอมเปลี่ยนมาเป็นทำสัญญาขายฝากตามที่จำเลยต้องการ แม้จะไม่ค่อยเต็มใจนัก แต่ก็ถือว่าเป็นการสมัครใจ ทั้งเมื่อถึงกำหนดตามสัญญาขายฝาก หากโจทก์มีเงินครบจำนวนและพร้อมที่จะไถ่ถอนการขายฝากแล้ว แม้โจทก์ไม่สามารถติดต่อจำเลยได้ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุใดก็ตาม โจทก์ก็สามารถนำไปวางเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่ โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้ตามม.492 ได้ แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กระทำการดังกล่าวหรือแม้แต่จะไปติดต่อที่สำนักงานที่ดินเพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์พร้อมที่จะไถ่ถอนที่ดินดังกล่าว แต่ได้ความว่าโจทก์รอจนพ้นกำหนดเวลาแล้วจึงได้ไปพบจำเลย ส่วนเรื่องดอกเบี้ยที่ตกลงกันนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยตกลงกันเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากสัญญาขายฝาก ซึ่งจะใช้บังคับกันได้หรือไม่นั้นเป็นอีกส่วนหนึ่ง สัญญาขายฝากตามฟ้องจึงมิใช่เป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมเงิน 
-ทริคทำข้อสอบ ต้องวินิจฉัยว่านิติกรรมเกิดขึ้นไหม (ฎีกานี้จำนองไม่เกิด เพราะเปลี่ยนใจขายฝาก) , ถ้านิติกรรมเกิดแล้ว ดูต่อว่ามีกี่นิติกรรม คู่กรณีเดียวกันไหม นิติกรรมอันหนึ่งจริงอีกอันลวงไหม นิติกรรมจริงม.155 วรรคสอง นิติกรรมลวงม.155 วรรคหนึ่ง โมฆะ

***จบการบรรยาย***


เพิ่มเติมคำพิพากษาฎีกา จากระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา
-ฎ.5792/2558 
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ หากเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ถ้าไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ได้ ให้จำเลยชำระเงิน 621,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 540,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 540,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 มีนาคม 2555) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยต้องชำระเงินแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำให้การจำเลยและตามทางพิจารณาโจทก์จำเลยนำสืบว่า นายประหยัด บิดาโจทก์ต้องการซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 261 ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล เนื้อที่ 15 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา ของนางสาว ต่อจากนายฉลาด อดีตสามีจำเลย ซึ่งนายฉลาดทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวจากนางสาว เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2551 ตกลงราคากัน 1,200,000 บาท นายฉลาดวางเงินมัดจำ 100,000 บาท สัญญากำหนดโอนกรรมสิทธิ์แก่นายฉลาดในวันที่ 19 มิถุนายน 2552 ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2552 นายฉลาดตกลงจะขายที่ดินดังกล่าวแก่นายประหยัดในราคา 1,200,000 บาท นายประหยัดวางเงินมัดจำ 500,000 บาท สัญญากำหนดโอนกรรมสิทธิ์แก่นายประหยัดในวันที่ 23 กันยายน 2552 โดยสัญญาดังกล่าวไม่ได้ระบุที่ดินที่จะซื้อขายเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 261 แต่ระบุเป็นที่ดินแปลงอื่น คือที่ดินโฉนดเลขที่ 3707 ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล เนื้อที่ 4 ไร่ 38 ตารางวา ต่อมาวันที่ 8 สิงหาคม 2552 นายประหยัดชำระเงินแก่นายฉลาดเพิ่มอีก 40,000 บาท และมีการแก้ไขสัญญา กำหนดชำระเงินส่วนที่เหลือในวันที่ 30 ธันวาคม 2552 และนายประหยัดเข้าทำประโยชน์ปลูกต้นปาล์มน้ำมันในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 261 ครบกำหนดตามสัญญาแล้ว แต่นายฉลาดไม่สามารถโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 261 ให้แก่นายประหยัด ต่อมาวันที่ 16 มกราคม 2553 นายฉลาดทำสัญญากู้เงินกับนายประหยัดว่า นายฉลาดกู้ยืมเงินนายประหยัด 880,000 บาท ซึ่งจำนวนเงินคิดจากเงินมัดจำ 540,000 บาท และค่าเสียหายที่นายประหยัดปลูกต้นปาล์มน้ำมันในที่ดิน โดยนำที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2703 ของจำเลยให้ยึดถือไว้เป็นประกันด้วย สัญญากำหนดชำระเสร็จสิ้นภายในวันที่ 16 มกราคม 2554 และจำเลยเป็นผู้เขียนสัญญาดังกล่าวตามหนังสือสัญญากู้เงิน รุ่งขึ้นวันที่ 17 มกราคม 2553 นายประหยัดบอกว่านายฉลาดไม่มีทรัพย์สินอะไร เป็นบุคคลล้มละลาย ขอให้จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของจำเลยคือที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2703 แก่โจทก์ในราคา 880,000 บาท สัญญาระบุว่าจำเลยรับเงินมัดจำไว้ 540,000 บาท กำหนดโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ในวันที่ 17 มกราคม 2554 ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย เพื่อเป็นประกันไว้แทนสัญญากู้เงินดังกล่าว เห็นว่า สัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำ ที่ระบุที่ดินที่จะซื้อจะขายตามโฉนดเลขที่ 3707 นั้น ไม่ตรงกับเจตนาที่แท้จริงของคู่กรณีและคู่กรณีไม่ประสงค์ให้มีผลตามกฎหมาย เป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้ระหว่างคู่กรณี นิติกรรมที่แสดงออกมาว่าเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 3707 จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ส่วนเจตนาที่แท้จริงของคู่กรณีที่ประสงค์ให้ใช้บังคับระหว่างกันคือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 261 ที่ไม่เปิดเผยและถูกอำพรางไว้ กรณีจึงต้องบังคับตามนิติกรรมที่ถูกอำพรางนี้ เมื่อครบกำหนดโอนที่ดินตามสัญญาในวันที่ 30 ธันวาคม 2552 นายฉลาดผิดสัญญาโอนที่ดินแก่นายประหยัดไม่ได้ ดังนี้ นายประหยัดย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้นายฉลาดปฏิบัติตามสัญญาหรือเรียกค่าเสียหายได้ การที่นายฉลาดทำสัญญากู้ยืมเงินนายประหยัด 880,000 บาท เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2553 ตามหนังสือสัญญากู้เงิน โดยจำเลยเป็นผู้เขียนสัญญา และจำเลยยอมนำที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2703 ของจำเลยให้ยึดถือเป็นประกันด้วยนั้น จึงเป็นที่มาแห่งมูลหนี้ ชอบที่นายประหยัดจะบังคับให้นายฉลาดชำระค่าเสียหายที่ไม่สามารถโอนที่ดินแก่ตน แต่เนื่องเพราะนายฉลาดไม่มีทรัพย์สินอะไร เป็นบุคคลล้มละลายและนายประหยัดกลัวว่านายฉลาดจะโกงบิดพลิ้วไม่ยอมชำระเงินตามสัญญากู้เงิน การที่จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2703 ของจำเลยแก่โจทก์ในราคา 880,000 บาท เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2553 เพื่อเป็นประกันไว้แทนสัญญากู้เงินดังกล่าวให้อีก เห็นว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2703 ของจำเลยระหว่างโจทก์กับจำเลยนั้น ไม่ตรงกับเจตนาที่แท้จริงของคู่กรณี และคู่กรณีไม่ประสงค์ให้มีผลตามกฎหมายเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้ระหว่างคู่กรณี นิติกรรมที่แสดงออกมาว่าเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ส่วนเจตนาที่แท้จริงของคู่กรณีที่ประสงค์ให้ใช้บังคับระหว่างกันคือ จำเลยยอมชำระเงินแทนนายฉลาดในมูลหนี้ที่นายฉลาดทำสัญญากู้เงินนายประหยัด 880,000 บาท ตามสัญญากู้เงินนั่นเอง และสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทถือได้ว่าเป็นการกู้ยืมเงินของนายฉลาด โดยมีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่งสัญญาตามเจตนาที่แท้จริงดังกล่าวนี้เป็นนิติกรรมอีกอันหนึ่งที่คู่กรณีสมัครใจตกลงทำขึ้นเพื่อเป็นการค้ำประกันเงินที่นายประหยัดได้วางมัดจำแก่นายฉลาดเพื่อชำระราคาที่ดินไปแล้วพร้อมค่าเสียหาย มิใช่นิติกรรมอำพรางของสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างนายฉลาดกับนายประหยัด ซึ่งเป็นคนละส่วนต่างหากจากกัน เมื่อนายฉลาดมิได้ชำระเงินที่ต้องรับผิดแก่นายประหยัดหรือโจทก์และการที่จำเลยยอมทำสัญญารับผิดในหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ตามที่นายฉลาด นายประหยัด และโจทก์ยินยอม โดยทุกฝ่ายต่างลงลายมือชื่อในสัญญาจะซื้อจะขาย เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินมัดจำกรณีโอนที่ดินกันไม่ได้เท่ากับโจทก์ขอให้ชำระหนี้ค้ำประกัน หาใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่งไม่ ส่วนที่จำเลยอ้างว่า ฝ่ายโจทก์ตกลงว่าหากนายประหยัดได้รับโอนที่ดินจากนางสาวแล้วก็ให้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นอันยกเลิกนั้น เห็นว่า นายฉลาดเบิกความยอมรับว่า เมื่อโจทก์กับจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทแล้ว หลังจากนั้นประมาณ 2 เดือน นายฉลาดจึงทราบว่า นายประหยัดไปดำเนินการไถ่ถอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 261 ของนางสาวจากธนาคาร และวันที่ 30 มีนาคม 2553 นางสาวโอนที่ดินดังกล่าวแก่นายประหยัดตามสำเนาโฉนดที่ดิน แสดงว่าเมื่อนายฉลาดไม่สามารถดำเนินการโอนที่ดินดังกล่าวแก่นายประหยัดตามสัญญาภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2552 หลังจากนั้นนายฉลาดก็ไม่ได้ดำเนินการใดให้เห็นว่านายประหยัดคงให้นายฉลาดปฏิบัติตามสัญญาต่อไป และข้อกล่าวอ้างของจำเลยไม่มีหลักฐานยืนยันได้สมจริง จึงเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ การได้ที่ดินดังกล่าวของนายประหยัดไม่มีมูลเกี่ยวข้องกับคดีนี้ ข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินมัดจำ 540,000 บาท แก่โจทก์ แต่ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์ตอบทนายจำเลยถามค้านยอมรับว่า เมื่อบิดาโจทก์และโจทก์ได้รับโอนที่ดินจากนางสาวและนางสร้อยสน โจทก์ได้รับเงิน 150,000 บาท เข้าใจว่าเป็นส่วนของนายฉลาด เมื่อหักหนี้กันแล้ว คงเหลือหนี้ต่อกัน 390,000 บาท ดังนั้น จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงิน 390,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเพียงบางส่วน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 390,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 มีนาคม 2555) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

-ฎ.10834/2556 
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 2103 ตำบลเพ็กใหญ่ อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น และรับเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมทั้งส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวคืนโจทก์ หากไม่ดำเนินการ ขอให้ศาลเพิกถอนโฉนดที่ดินและให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น สาขาพล ออกโฉนดที่ดินฉบับใหม่ให้แก่โจทก์แทน

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับเงินจำนวน 300,000 บาท ให้ไถ่ถอนการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 2103 ตำบลเพ็กใหญ่ อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น พร้อมสิ่งปลูกสร้างและส่งมอบโฉนดที่ดินคืนโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 9,000 บาท

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2545 นางอัมพร ภริยาโจทก์ได้ทำสัญญากู้เงินจำนวน 300,000 บาท จากจำเลย โดยระบุในสัญญาว่าผู้กู้ได้มอบโฉนดที่ดินเลขที่ 2103 ให้เป็นประกันหนี้และให้โจทก์เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินค้ำประกันหนี้ โดยจดทะเบียนขายฝากที่ดินแปลงข้างต้นแก่จำเลย กับโจทก์ได้ทำสัญญาค้ำประกันนางอัมพรในการทำสัญญากู้เงินดังกล่าว และในวันดังกล่าวโจทก์ได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 2103 พร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลยเป็นเงิน 300,000 บาท มีกำหนด 2 ปี เมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าวมีการจดทะเบียนขยายระยะเวลาขายฝากออกไปอีก 5 ครั้ง ครบกำหนดครั้งสุดท้ายวันที่ 17 ธันวาคม 2553 ครั้นครบกำหนดไถ่ถอน โจทก์นำเงินจำนวน 300,000 บาท ไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์เพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลย

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า นิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงินหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยมีเจตนาที่แท้จริงคือรับซื้อฝากที่ดินจากโจทก์มิใช่การกู้เงินนั้น ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า จำเลยมีอาชีพปล่อยเงินกู้ สำหรับเงินจำนวน 25,000 บาท เป็นเงินที่ภริยาโจทก์ฝากให้แก่จำเลยเป็นค่าดอกเบี้ยก่อนที่จะขยายระยะเวลาขายฝากครั้งที่ 5 ทั้งตามเอกสารทั้งหมดโจทก์ก็ระบุว่าเป็นใบเสร็จรับเงินหรือใบโอนเงินให้จำเลยเพื่อชำระดอกเบี้ยแต่ละเดือนมิได้ระบุว่าเป็นค่าตอบแทนที่จำเลยขยายเวลาไถ่ถอนให้แก่โจทก์ดังที่โจทก์ฎีกา ตามพฤติการณ์ดังกล่าวจึงเชื่อว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องการกู้เงิน ซึ่งในข้อนี้จำเลยก็เบิกความว่า เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2545 นางอัมพร และโจทก์มาขอกู้เงินจากจำเลย 300,000 บาท โดยจำเลยให้โจทก์เป็นผู้ค้ำประกัน แต่เมื่อจำเลยพิจารณาจำนวนเงินที่จะขอกู้แล้วเห็นว่าควรจะมีหลักทรัพย์เป็นประกันหนี้ จึงให้โจทก์เป็นผู้ทำสัญญาขายฝากด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงตามสัญญากู้ดังกล่าวก็ระบุว่าผู้กู้มอบต้นฉบับที่ดินพิพาทให้เป็นประกันหนี้ และให้โจทก์เจ้าของกรรมสิทธ์ที่ดินค้ำประกันหนี้ ทั้งการขายฝากนั้นกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขายฝากย่อมตกเป็นของผู้ซื้อฝากตั้งแต่เมื่อทำสัญญาขายฝาก การที่จำเลยยอมรับเอาโฉนดที่ดินพิพาทเป็นหลักประกันด้วยเท่ากับจำเลยยอมรับว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามโฉนดที่ดินพิพาทยังเป็นของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยมีเจตนาจะผูกพันในเรื่องการกู้ยืมเงินระหว่างนางอัมพรกับจำเลยโดยมีโจทก์เป็นผู้ค้ำประกันและให้โฉนดที่ดินพิพาทเป็นประกันหนี้ หาได้มีเจตนาที่จะผูกพันกันตามสัญญาขายฝากไม่ แม้การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งในการทำนิติกรรมอำพรางตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสองนั้น คู่กรณีจะต้องแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้นสองนิติกรรมคือนิติกรรมหนึ่งแสดงให้ปรากฏออกมาโดยเปิดเผยคู่กรณีไม่ประสงค์จะให้มีผลบังคับอย่างใดตามกฎหมาย ส่วนอีกนิติกรรมหนึ่งเป็นนิติกรรมที่ไม่เปิดเผยเรียกว่านิติกรรมที่ถูกอำพรางปกปิดไว้ โดยคู่กรณีประสงค์จะให้นิติกรรมที่ถูกอำพรางปกปิดไว้นั้นใช้บังคับระหว่างกันเองได้ไม่ต้องการผลบังคับจากนิติกรรมที่แสดงให้ปรากฏออกมา แม้คู่กรณีในเรื่องนิติกรรมอำพรางจะต้องมีเพียงคู่เดียวก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์เป็นสามีของนางอัมพร ผู้กู้ ทั้งยังเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญากู้เงิน ซึ่งนางอัมพรก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า โจทก์มีความประสงค์ต้องการใช้เงิน แสดงว่าโจทก์มีส่วนได้เสียในเงินกู้ดังกล่าวด้วย การที่โจทก์และนางอัมพรทำนิติกรรมดังกล่าวจึงมีผลประโยชน์ร่วมกันและถือได้ว่าเป็นฝ่ายเดียวกัน ดังนี้ แม้คู่กรณีในนิติกรรมขายฝากจะเป็นนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลย ส่วนนิติกรรมการกู้ยืมเป็นนิติกรรมระหว่างนางอัมพรกับจำเลย ก็ถือได้ว่าคู่กรณีในนิติกรรมทั้งสองนิติกรรมนั้นเป็นคู่กรณีเดียวกัน ฟังได้ว่านิติกรรมขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืม จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ต้องบังคับตามสัญญากู้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง โดยจำเลยยังมีสิทธิยึดโฉนดที่ดินพิพาทเป็นประกันได้ และเมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่ามีการชำระหนี้ตามสัญญากู้ครบถ้วนแล้วหรือไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากกับขอให้จำเลยคืนโฉนดที่ดินพิพาทได้ และเมื่อการขายฝากที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างตกเป็นโมฆะดังกล่าว ศาลฎีกาก็ชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนเสีย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 2103 พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2545 ทั้งนี้ ให้จำเลยยังคงมีสิทธิยึดโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้จนกว่าโจทก์จะชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยให้แก่จำเลยจนครบถ้วน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ


✅สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ กฎหมายนิติกรรม สัญญา ครั้งที่ 7
✅สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ กฎหมายนิติกรรม สัญญา ครั้งที่ 8
✅สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ กฎหมายนิติกรรม สัญญา ครั้งที่ 9
✅สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ กฎหมายนิติกรรม สัญญา ครั้งที่ 10
✅สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ กฎหมายนิติกรรม สัญญา ครั้งที่ 11
✅สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ กฎหมายนิติกรรม สัญญา ครั้งที่ 12
✅สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ กฎหมายนิติกรรม สัญญา ครั้งที่ 13
✅สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ กฎหมายนิติกรรม สัญญา ครั้งที่ 14
✅สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ กฎหมายนิติกรรม สัญญา ครั้งที่ 15
✅สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ กฎหมายนิติกรรม สัญญา ครั้งที่ 16

ความคิดเห็น

10 บทความยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (44 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 (20 ข้อ)