สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ กฎหมายหุ้นส่วน บริษัท (ครั้งที่ 4)
สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ
กฎหมายหุ้นส่วน บริษัท (ครั้งที่ 4)
อาจารย์วิรัตน์ วิศิษฏ์วงศกร
วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน 2568
**********
1. หลักเกณฑ์การทำกิจการร่วมกัน การประกอบกิจการเดียวกัน โดยมีส่วนในการบริหารจัดการหรือดูแลครอบงำกิจการร่วมกัน อาจจะแบ่งหน้าที่กันทำก็ได้
-ระดับผู้ปฏิบัติการ เช่น ลูกจ้างแม้มีข้อตกลงให้มีส่วนได้ในเงินกำไร (เงินโบนัส) หรือผู้จัดการที่จ้างเข้ามาทำงาน เพื่อรับเงินเดือน ก็ไม่นับว่าเป็นหุ้นส่วน
-ม.1037 หุ้นส่วนหลายคนในห้างหุ้นส่วนสามัญอาจตกลงให้หุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งเป็นผู้จัดการห้างฯ ก็ได้ หรือจะตกลงร่วมกันจัดการก็ได้ เพราะผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนรับผิดแบบไม่จำกัด , แต่กรณีห้างหุ้นส่วนจำกัด ม.1088 หุ้นส่วนจำกัดความรับผิด แม้สอดเข้าไปจัดการงานของห้างฯ ไม่ได้ แต่ยังคงมีสิทธิออกความเห็นหรือแนะนำในการจัดการงานห้างฯ ได้ หรือถ้าสัญญากำหนดไว้ก็มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในการตั้งและถอดถอนผู้จัดการได้
2. หลักเกณฑ์การทำกิจการร่วมกัน เป็นเจ้าของกิจการเดียวกัน
-หุ้นส่วนที่มีอำนาจจัดการงานของห้างฯ จะประกอบกิจการ หรือเข้าไปเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดในกิจการอื่นที่มีสภาพอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างฯ ไม่ได้ เว้นแต่เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด (ม.1038 , 1066 , 1067 , 1087 , 1090)
3. หลักเกณฑ์การทำกิจการร่วมกัน มีส่วนในกำไรและขาดทุนร่วมกัน
-ฎ.1674/2565 การที่พันตำรวจโท บ. โจทก์ ช. และกลุ่มเพื่อนร่วมรุ่น ตกลงเข้าหุ้นกันจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน เพื่อทำการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยประสงค์จะนำกำไรที่ได้จากการลงทุนของแต่ละคนมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในกิจกรรมของรุ่น หากขาดทุนก็ขาดทุนร่วมกัน เข้าลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ตามม.1012 ต่อมา ช. ถึงแก่ความตาย ห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าว จึงเลิกกันตามม.1055(5) และต้องจัดให้มีการชำระบัญชี เว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันตามม.1061 วรรคหนึ่ง
-ฎีกาส่วนใหญ่ที่เราเห็นกันก็คือ ไม่ได้ชำระบัญชี
-ฎ.12518/2553 แม้ชื่อสัญญาระบุว่าเป็นสัญญาร่วมหุ้นซื้อที่ดิน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนเสมอไป เพราะการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนนั้นจะต้องมีการกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการนั้น แต่ตามสัญญาพิพาทมีเนื้อหาสาระเพียงว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยร่วมลงทุนซื้อที่ดิน โดยตกลงกันให้ผู้ถือหุ้นแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามอัตราส่วนของจำนวนเงินที่ลงหุ้นวางมัดจำไว้เท่านั้น อันเป็นสัญญารูปแบบหนึ่ง ไม่ใช่เป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนแต่อย่างใด สัญญาร่วมหุ้นซื้อที่ดินระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ใช่สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน แต่เป็นสัญญารูปแบบหนึ่ง ซึ่ง ป.พ.พ.หรือกฎหมายอื่นไม่ได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามม.193/30 (ร่วมกันซื้อที่ดิน กรรมสิทธิ์รวมทั่ว ๆ ไป มีตกลงแบ่งปันกำไรขาดทุน)
-ฎ.428/2522 สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ซึ่งกำหนดไว้ว่า จำเลยจะไปจดทะเบียนให้โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมภายใน 1 ปี เพียงแต่มีข้อตกลงกันเป็นพิเศษยอมให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำที่ดินที่จะซื้อขายกันนี้ไปขายให้แก่บุคคลภายนอกได้โดยจะต้องนำเงินที่ขายได้มาแบ่งกันคนละครึ่งเท่านั้น การมีข้อตกลงเป็นพิเศษเพียงเท่านี้ หาทำให้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกลายเป็นสัญญาหุ้นส่วนไปไม่
4. วัตถุประสงค์จะแบ่งกำไรอันจะพึงได้จากกิจการที่ทำนั้น
-ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งกำไรกันระหว่างหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น
-มิใช่เพียงแค่แบ่งรายได้ ทรัพย์สิน หรือจ่ายเพราะเป็นค่าจ้าง สินจ้าง
-โดยกำไรต้องมาจากกิจการที่ทำนั้น และผลกำไรได้มาจากบุคคลภายนอก ถ้าค้ากำไรจากสมาชิกด้วยกันเอง อาจเข้าลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งสมาคม หรือสหกรณ์ มิใช่จัดตั้งหุ้นส่วน
-ฎ.33/2565 สัญญาการให้บริการระหว่างบริษัท เอ โจทก์ และบริษัท บี จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ตกลงซื้อบริการในระบบ IPTV ของโจทก์ เพื่อการใช้งานในสมาร์ททีวี โจทก์ต้องให้บริการในส่วนเนื้อหา และบริการอื่นที่เกี่ยวข้องแก่จำเลยที่ 2 ในการเผยแพร่ไอพีทีวีในสมาร์ททีวี โดยจำเลยที่ 2 ตกลงชำระค่าธรรมเนียมบริการและส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมการเป็นสมาชิกแก่โจทก์ เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่มีข้อความว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไร สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจ้างทำของมิใช่สัญญาหุ้นส่วน
-ฎ.1165/2521 สัญญาร่วมทุนการปลูกอ้อย ซึ่งโจทก์เป็นผู้ออกเงินทุนค่าใช้จ่ายในการปลูกอ้อย จำเลยเป็นเจ้าของที่ดิน และตกลงให้อ้อยที่ปลูกเป็นของโจทก์จำเลยร่วมกัน 3 ปี แต่จำเลยยอมให้โจทก์เป็นผู้ตัดอ้อยขายโรงเรียนแต่ผู้เดียว เงินขายอ้อยหลังจากหักค่าใช้จ่ายในการตัดอ้อยแล้ว ให้ใช้คืนทุนที่โจทก์ออกไปก่อนจนกว่าจะครบ ถ้ามีเงินเหลือจากนั้นจึงจะนำไปแบ่งกันระหว่างโจทก์และจำเลยคนละครึ่งนั้น ไม่ใช่สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน
-ฎ.7498/2540 ข้อตกลงโครงการจัดหาซื้อที่ดินเพื่อขายเอากำไร โดยมีโจทก์และจำเลยร่วมลงทุนเป็นเงิน ส่วนจำเลยเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อที่ดิน เมื่อขายที่ดินดังกล่าวได้แล้ว ให้จ่ายเงินคืนแก่ผู้ออกเงินพร้อมดอกเบี้ยและจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่าง ๆ หากมีเงินเหลือซึ่งเป็นกำไรก็จะจัดการแบ่งกันในระหว่างผู้ร่วมดำเนินการทุกคน ดังนี้ข้อตกลงระหว่างโจทก์ จำเลย และจำเลยที่ 2 จึงเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน หาใช่เป็นสัญญาร่วมลงทุนไม่ , เมื่อห้างหุ้นส่วนดังกล่าวยังไม่เลิกกันตามม.1055 , 1056 และ 1057 จึงยังไม่ได้จัดการชำระบัญชีตามม.1061 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินที่ร่วมลงทุนในห้างหุ้นส่วนจากหุ้นส่วนคนอื่น ๆ
5. การเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาเดิมหรือประเภทแห่งกิจการ ม.1032
-โดยหลัก ห้ามเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาเดิม (ข้อสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน) หรือประเภทแห่งกิจการ (วัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการ เช่น จากประกอบกิจการค้าส่งเสื้อผ้า เป็นกิจการร้านอาหาร) นอกจากผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนยินยอม
-เว้นแต่ มีข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
-ฎ.1982/2543 โจทก์กับบริษัท ร. จำเลย ตกลงทำสัญญาเข้าร่วมทุนในการตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ เพื่อดำเนินกิจการร้านอาหาร โดยโจทก์เป็นผู้ลงหุ้นเป็นเงิน ส่วนจำเลยลงหุ้นเป็นแรงงาน เมื่อตามสัญญากำหนดให้โจทก์เป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินของร้านอาหารเพียงผู้เดียว ซึ่งถือได้ว่าเป็นสาระสำคัญในการตกลงเข้าหุ้นทำกิจการร่วมกันในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ลงทุนเป็นเงินทั้งหมด ข้อสัญญาดังกล่าวนี้จำเลยผู้เป็นหุ้นส่วนเพียงคนเดียวจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เว้นแต่โจทก์หุ้นส่วนอีกคนหนึ่งจะยินยอมด้วย , การที่จำเลยห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้องในกิจการร้านอาหาร จำเลยจึงเป็นผู้เข้ารับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินในการจัดเก็บรายได้และรายจ่ายของร้านอาหารทั้งหมดแทนโจทก์ อันเป็นหน้าที่ของโจทก์ตามสัญญา จึงถือได้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนแปลงข้อสัญญาที่ทำกันไว้โดยที่โจทก์ไม่ได้ยินยอมด้วย เป็นการขัดต่อม.1032 การกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาเข้าหุ้นส่วนกัน
6. ลักษณะของห้างหุ้นส่วนสามัญ ม.1025 + ม.1050
-ม.1025 ห้างหุ้นส่วนสามัญ คือ ห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด
-ม.1050 การใด ๆ อันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้น ๆ ด้วย และจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น
6.1) หุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันและแทนกัน (นำหลักลูกหนี้ร่วมตามม.291 มาใช้บังคับ)
-เจ้าหนี้จะฟ้องเรียกชำระหนี้ทั้งหมดจากหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งก็ได้ , แต่กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างฯ ต้องผิดนัดชำระหนี้ก่อน จึงจะฟ้องหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้ตามม.1070
6.2) เพื่อหนี้ทั้งปวงของห้าง (ไม่ว่าจะเป็นมูลหนี้ตามสัญญาหรือละเมิด)
-หุ้นส่วนคนใด หรือลูกจ้างของห้างฯ ขับรถไปในกิจการของห้างฯ หรือทางการที่จ้าง ชนคนได้รับบาดเจ็บ ห้างฯ ในฐานะตัวการตามม.1042 หรือในฐานะนายจ้าง ก็ต้องร่วมรับผิดกับหุ้นส่วนหรือลูกจ้างผู้กระทำละเมิดตามม.425
6.3) รับผิดโดยไม่จำกัดจำนวน
-แม้หนี้เกินจำนวนที่ลงหุ้น หรือเกินกว่าทุนทรัพย์ของห้างฯ หุ้นส่วนทุกคนก็ต้องร่วมรับผิดโดยไม่มีจำกัด
7. ความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันเอง
7.1) ส่วนลงหุ้น
-ม.1026 ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาลงหุ้นด้วยในห้างหุ้นส่วน สิ่งที่นำมาลงหุ้นด้วยนั้น จะเป็นเงินหรือทรัพย์สินสิ่งอื่นหรือลงแรงงานก็ได้
-กรณีตกลงเข้าหุ้น แต่ยังไม่ได้ส่งมอบส่วนลงหุ้น ฎ.2530/2538 ตามสัญญาร่วมลงทุนระหว่างโจทก์และจำเลยมีข้อตกลงกันว่า ต่างฝ่ายต่างจะลงหุ้นโดยชำระเงินค่าที่ดินฝ่ายละครึ่ง ถือได้ว่าเป็นสัญญาเข้าหุ้นส่วนกัน ตามม.1026 แล้ว แม้โจทก์ผิดสัญญาจะไม่ส่งเงินหรือทรัพย์สินตามที่ตกลงก็หาทำให้สัญญาเข้าหุ้นส่วนดังกล่าวเสียไปไม่ เมื่อจำเลยยังไม่ได้บอกเลิกสัญญากับโจทก์ สัญญาร่วมทุนระหว่างโจทก์จำเลยจึงยังไม่เลิกกัน โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนและชำระบัญชีได้
7.2) ผลของการไม่ส่งมอบส่วนลงหุ้น
-ม.1031 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดละเลยไม่ส่งมอบส่วนลงหุ้นของตนเสียเลย ต้องส่งคำบอกกล่าวไปยังผู้เป็นหุ้นส่วนให้ส่งมอบส่วนลงหุ้นภายในเวลาอันสมควร มิฉะนั้นผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ จะลงเนื้อเห็นพร้อมกัน หรือโดยเสียงข้างมากด้วยกันสุดแต่ข้อสัญญา ให้เอาผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นออกเสียก็ได้
-เป็นกรณีหุ้นส่วนไม่ส่งมอบส่วนลงหุ้นเลย ถ้าส่งมอบแล้วบางส่วน จะให้ออกตามมาตรานี้ไม่ได้ โดยอาจถือเป็นการผิดข้อตกลงสำคัญตามสัญญาเข้าหุ้นส่วน ที่หุ้นส่วนอื่นอาจขอให้ศาลสั่งกำจัดหุ้นส่วนผู้นั้นซึ่งเป็นเหตุให้ห้างฯ เลิกกันได้ตามม.1058+ม.1057
ครั้งหน้าเป็นเรื่องการลงหุ้นด้วยทรัพย์สิน 2 ประเภท
***จบการบรรยาย***
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น