สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ กฎหมายหุ้นส่วน บริษัท (ครั้งที่ 6)
สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ
กฎหมายหุ้นส่วน บริษัท (ครั้งที่ 6)
อาจารย์วิรัตน์ วิศิษฏ์วงศกร
วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน 2568
**********
1. กรณีไม่ตั้งผู้จัดการห้างหุ้นส่วน
1.1) ถ้าหุ้นส่วนมิได้ตกลงตั้งผู้จัดการกันไว้ หุ้นส่วนทุกคนย่อมจัดการห้างหุ้นส่วนนั้นได้ และถือว่าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการทุกคน แต่หุ้นส่วนคนใดจะเข้าทำสัญญาซึ่งหุ้นส่วนอีกคนหนึ่งทักท้วงไม่ได้ ม.1033
-หุ้นส่วนผู้จัดการแต่ละคนจึงจัดกิจการต่าง ๆ ได้โดยลำพัง เว้นแต่
--มีการทักท้วงเรื่องสัญญา
--เป็นเรื่องสำคัญซึ่งมีบทบัญญัติเฉพาะให้หุ้นส่วนทุกคนต้องยินยอม เช่น การให้หุ้นส่วนออกจากห้าง เพราะไม่ส่งส่วนลงหุ้น ม.1031 , การเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาจัดตั้งห้าง ม.1032 , การชักนำบุคคลอื่นเข้ามาเป็นหุ้นส่วน ม.1040
-ฎ.9948/2555 โจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนกับบริษัท อ. เพื่อดำเนินกิจการของโรงเรียน อันมีโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 เป็นหุ้นส่วน เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้เป็นหุ้นส่วนตกลงกันไว้ในกระบวนการห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมจัดการห้างหุ้นส่วนนั้นได้ทุกคนตามม.1033 วรรคหนึ่ง โจทก์ร่วมในฐานะหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนสามัญยังมิได้จดทะเบียน ย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการดำเนินคดีจำเลยที่ยักยอกเงินของโรงเรียนได้
-ฎ.4264/2547 โจทก์และ ส. ตกลงเข้ากันเป็นหุ้นส่วนทำกิจการบ้านจัดสรรและอาคารพาณิชย์ แม้ในการทำสัญญาขายที่ดินพร้อมอาคารแก่จำเลย จะได้มอบอำนาจให้ ว. เป็นผู้มีอำนาจจัดการแทน อันมีผลทำให้โจทก์และ ส. ผูกพันตามสัญญาที่ ว. ทำไว้กับจำเลย ซึ่งโจทก์หรือ ส. ผู้เป็นหุ้นส่วนมีสิทธิฟ้องจำเลยได้โดยลำพังก็ตาม แต่การฟ้องคดีก็จะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผุ้เป็นหุ้นส่วนทุกคน เมื่อโจทก์และ ส. ยังเป็นหุ้นส่วนกันอยู่ การที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้เฉพาะส่วนของตนกึ่งหนึ่ง จึงเป็นการฟ้องเรียกหนี้สินของห้างหุ้นส่วนสามัญในฐานะส่วนตัว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องได้ (เริ่มต้นคำฟ้องเกี่ยวกับห้าง แต่คำขอท้ายฟ้องเพื่อส่วนตัว)
1.2) ถ้าหุ้นส่วนมิได้ตกลงตั้งผู้จัดการกันไว้ แต่มีข้อตกลงให้จัดการร่วมกัน
-ถ้าได้ตกลงกันไว้ว่าการงานของห้างหุ้นส่วนนั้น ให้เป็นไปตามเสียงข้างมากแห่งผู้เป็นหุ้นส่วน ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งมีเสียงเป็นคะแนนหนึ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนที่ลงหุ้นด้วยมากหรือน้อย
1.3) การจัดการในเรื่องสำคัญ ไม่ว่าหุ้นส่วนมีการตกลงตั้งผู้จัดการกันไว้หรือไม่ก็ตาม หุ้นส่วนทุกคนจะต้องหารือเพื่อออกเสียงลงมติในเรื่องสำคัญ ดังนี้
-การให้หุ้นส่วนออกจากห้าง เพราะไม่ส่งส่วนลงหุ้นเลย ด้วยมติเอกฉันท์หรือเสียงข้างมากตามข้อสัญญาระบุไว้ ม.1031
-การเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาจัดตั้งห้าง ด้วยมติเอกฉันท์ เว้นแต่มีข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ม.1032
-การชักนำบุคคลอื่นเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วยมติเอกฉันท์ เว้นแต่มีข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ม.1040
2. มาตรฐานการจัดการห้างหุ้นส่วน
2.1) กรณีเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้เป็นหุ้นส่วนจำต้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนด้วยความระมัดระวังให้มากเสมือนกับจัดการงานของตนเอง ม.1039
2.2) กรณีไม่ได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนมิได้เป็นผู้จัดการเข้ามาจัดการงานของห้างหุ้นส่วน หรือหุ้นส่วนผู้จัดการกระทำการล่วงขอบอำนาจของตน ให้บังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยจัดการงานนอกสั่ง ม.1043 คือ จะต้องจัดการงานไปในทางสมประโยชน์ตามความประสงค์ของห้างตัวการ มิฉะนั้น ต้องใช้ค่าสินไหมสดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่ที่ได้จัดการนั้น ม.395 , 396 ถ้าจัดการสมประโยชน์ของห้าง ก็มีสิทธิเรียกเงินทดรองจ่ายคืนได้ หรือเรียกให้ห้างชำระหนี้แทนตนได้ ม.401 , 816 วรรคสอง
3. ผลของการจัดการห้างหุ้นส่วน
3.1) บำเหน็จ ผู้เป็นหุ้นส่วนไม่มีสิทธิจะได้รับบำเหน็จเพื่อที่ได้จัดการงานของห้างหุ้นส่วน เว้นแต่จะได้มีความตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ม.1046
3.2) ความรับผิด ความเกี่ยวพันระหว่างหุ้นส่วนผู้จัดการกับผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นนั้น ให้บังคับด้วยบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทน ม.1042 เช่น ต้องจัดการภายในขอบอำนาจของหุ้นส่วนผู้จัดการ ม.820 , แต่แม้เกินขอบอำนาจ หุ้นส่วนอื่นอาจร่วมรับผิดต่อบุคคลภายนอกได้ เพราะมีการให้สัตยาบันแก่การนั้น ม.823 , หรือฐานตัวแทนเชิด ม.821 , หรือเพราะทางปฏิบัติมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอยู่ภายในขอบอำนาจ ม.822
-หุ้นส่วนที่มิใช่หุ้นส่วนผู้จัดการ จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้าง ม.1050
-ฎ.1521/2566 นิติสัมพันธ์ระหว่างบริษัทจำเลยกับนางสาว ส. และนาย ส. จำเลยร่วมทั้งสอง โดยบริษัทจำเลยเป็นผู้ออกเงิน จำเลยร่วมทั้งสองเป็นผู้ลงแรงสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ ไปขายต่อแก่บุคคลอื่น นำกำไรที่ได้มาแบ่งปันกัน อันมีลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญตามม.1012 และม.1025 เมื่อนางสาว ส. จำเลยร่วมที่ 1 สั่งซื้อและรับสินค้าไปจากโจทก์ตามทางการค้าของห้างหุ้นส่วนเป็นปกติที่เคยปฏิบัติ ถือว่าได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้น ๆ ด้วย และจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้อันได้ก่อขึ้น เพราะจัดการไปเช่นนั้นตามม.1050 บริษัทจำเลยจึงไม่อาจกล่าวอ้างว่าไม่ได้สั่งซื้อสินค้าและไม่ได้รับสินค้าตามฟ้องขึ้นต่อสู้เพื่อไม่ชำระราคาแก่โจทก์ตามหลักกฎหมายดังกล่าวได้
4. การประกอบกิจการค้าขายแข่งห้างหุ้นส่วน
4.1) กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ม.1038 ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนแม้ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ประกอบกิจการซึ่งมีสภาพดุจเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้น โดยมิได้รับความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ
-หากฝ่าฝืน ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ชอบที่จะเรียกเอาผลกำไรซึ่งผู้นั้นหาได้ทั้งหมด หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหายเพราะเหตุนั้น แต่ห้ามมิให้ฟ้องเรียกเมื่อพ้นเวลา 1 ปี นับแต่วันทำการฝ่าฝืน
4.2) กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน นอกจากห้ามมิให้หุ้นส่วนประกอบกิจการสภาพดุจเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนแล้ว ก็ห้ามมิให้หุ้นส่วนเข้าเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนอื่นที่ประกอบกิจการแข่งกับกิจการของห้างด้วย เว้นแต่จะได้รับความยินยอมหรือหุ้นส่วนอื่นรู้อยู่แล้วในเวลาลงทะเบียนห้างและสัญญาเข้าหุ้นส่วนก็ไม่ได้บังคับให้ถอนตัว ม.1066 (แต่เข้าไปเป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดได้)
-หากฝ่าฝืน ห้างมีสิทธิเรียกเอาผลกำไรหรือค่าสินไหมทดแทน และหุ้นส่วนอื่นมีสิทธิเรียกให้เลิกห้างได้ตามม.1067 หรือขอให้กำจัดหุ้นส่วนดังกล่าวแทนการเลิกห้างตามม.1058
4.3) กรณีห้างหุ้นส่วนจำกัด หุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดประกอบกิจการค้าขายแข่งกับห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ตามม.1090
4.4) กรณีบริษัทจำกัด ไม่ห้ามผู้ถือหุ้น ห้ามเฉพาะกรรมการ ม.1168
-ฎ.8532/2559 โจทก์ทั้งห้ากับผู้อื่นอีก 2 คน เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ประกอบกิจการค้าปุ๋ยทุกชนิด โดยมีจำเลยทั้งสองเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ต่อมาจำเลยทั้งสองกับผู้อื่นอีก 5 คน รวม 7 คน เป็นผู้ถือหุ้นและจำเลยทั้งสองเป็นกรรมการในบริษัท ท. ที่ประกอบกิจการมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ซึ่งม.1066 และ 1067 วรรคหนึ่งและวรรคสาม บัญญัติให้ห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนจะเรียกเอาผลกำไรทั้งหมด หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนซึ่งห้างได้รับเพราะเหตุนั้นไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจฟ้องบังคับผู้ฝ่าฝืนให้หยุดประกอบกิจการที่ฝ่าฝืนนั้นได้ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้บุคคลภายนอกผู้สุจริตได้รับความเสียหาย จึงให้ยกคำขอของโจทก์ทั้งห้าที่ขอให้จำเลยทั้งสองหยุดประกอขกิจการในบริษัท ท.
5. ความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนกับบุคคลภายนอก
5.1) ระหว่างหุ้นส่วนด้วยกันเอง ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งจะเรียกเอาส่วนของตนจากหุ้นส่วนอื่น ๆ แม้ในกิจการค้าขายอันใดซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตนก็ได้ ม.1048
-เมื่อห้างได้รับผลกำไรจากกิจการค้าแล้ว ย่อมเป็นประโยชน์แก่หุ้นส่วนทุกคนตามส่วนลงหุ้น แม้ไม่ปรากฏชื่อหุ้นส่วนผู้เรียกเอาส่วนนั้นในสัญญาก็ตาม
5.2) ความเกี่ยวพันกับบุคคลภายนอก ผู้เป็นหุ้นส่วนจะถือเอาสิทธิใด ๆ แก่บุคคลภายนอกในกิจการค้าขายซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตนนั้นหาได้ไม่ ม.1049 เพราะห้างไม่จดทะเบียนนิติบุคคล ไม่มีรายการจดทะเบียนที่ถือว่าทุกคนทราบตามม.1022 และหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งอาจทำสัญญากับบุคคลภายนอกโดยมิได้ทำในนามห้างก็ได้
-ฎ.2578/2535 หุ้นส่วนที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญา ฟ้องคดีเองไม่ได้
5.3) กรณีชื่อทางการค้าปรากฏชื่อของหุ้นส่วนด้วย ก็ฟ้องคดีได้ แม้หุ้นส่วนไม่ได้เป็นคู่สัญญา
-ห้างมิใช่นิติบุคคล จึงฟ้องในนามห้างไม่ได้ (ฎ.769/2479 , 259/2526)
-กรณีมูลแห่งหนี้เป็นนิติเหตุ เช่น ห้างถูกกระทำละเมิด หุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งก็ฟ้องผู้กระทำละเมิดได้ (ฎ.1771/2499)
5.4) กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ผู้เป็นหุ้นส่วนอาจถือประโยชน์แก่บุคคลภายนอกในบรรดาสิทธิอันห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนนั้นได้มา แม้ในกิจการซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตน ม.1065 เพราะรายการจดทะเบียนจะปรากฏรายชื่อหุ้นส่วนทุกคนให้คู่สัญญาตรวจสอบได้ และเมื่อพิมพ์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ถือว่ารู้แก่บุคคลทั้งปวง ม.1022 , 1021 แต่เป็นข้อสันนิษฐานไม่เด็ดขาด คู่ความนำสืบหักล้างได้ (ฎ.8106/2560) ไม่นำไปใช้กับความรับผิดทางละเมิด (ฎ.569/2483)
5.5) กรณีห้างหุ้นส่วนจำกัด ให้นำม.1065 มาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเช่นกันตามม.1080
-ฎ.8106/2560 ตามม.1021 และ 1022 หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลที่ระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการนั้นเป็นเอกสารมหาชน ซึ่งป.วิ.พ.ม.127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เมื่อจำเลยที่ 3 อ้างว่ามิได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ต้องนำสืบถึงความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร แต่พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 3 นำสืบไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว คดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ต่อกรมสรรพากรโจทก์โดยไม่จำกัดจำนวนตามม.1077(2)
5.6) ข้อจำกัดอำนาจ
--กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญมิได้จดทะเบียน แม้มีข้อจำกัดอำนาจของหุ้นส่วนในการที่จะผูกพันผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ข้อจำกัดนั้นหามีผลถึงบุคคลภายนอก ม.1053
--กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ข้อจำกัดอำนาจของหุ้นส่วนผู้จัดการที่ลงโฆษณาไว้แล้ว ถือว่ามีผลผูกพันบุคคลภายนอก ม.1065(6) , 1022
--กรณีห้างหุ้นส่วนจำกัด ข้อจำกัดอำนาจของหุ้นส่วนผู้จัดการ มีผลผูกพันบุคคลภายนอกเมื่อลงโฆษณาไว้แล้ว ม.1078(7) , 1022
ครั้งหน้าเป็นเรื่องความรับผิดต่อบุคคลภายนอก (ต่อ)
***จบการบรรยาย***
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น