สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ กฎหมายหุ้นส่วน บริษัท (ครั้งที่ 7)
สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ
กฎหมายหุ้นส่วน บริษัท (ครั้งที่ 7)
อาจารย์วิรัตน์ วิศิษฏ์วงศกร
วันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม 2568
**********
1. ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ความรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวน ในกิจการที่หุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วน ม.1050 , 1025 โดยพิจารณาตามสภาพแห่งกิจการ การงานของห้าง และประเพณีทางการค้า
-หุ้นส่วนต้องจัดการในนามของห้าง ไม่ว่าจะมีมูลเหตุจูงใจเพราะทุจริต หรือมีอำนาจจัดการหรือไม่ก็ตาม จึงเป็นไปตามหลักกฎหมายปิดปากหุ้นส่วนคนอื่น และหลักลูกหนี้ร่วมตามม.291 เพื่อคุ้มครองบุคคลภายนอกผู้สุจริต ไม่ว่าการจัดการนั้นจะก่อให้เกิดมูลหนี้ใดก็ตาม รวมถึงมูลละเมิด
1.1) กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน เมื่อห้างผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้ของห้างฯ ชอบที่จะเรียกให้ชำระหนี้เอาแต่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใคคนหนึ่งก็ได้ ม.1070 เว้นแต่ผู้เป็นหุ้นส่วนพิสูจน์ได้ว่า สินทรัพย์ของห้างยังมีพอที่จะชำระหนี้ได้ และการที่จะบังคับเอาแก่ห้างนั้นไม่เป็นการยาก ซึ่งแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร ม.1071 (ต่างกับกรณีค้ำประกัน ม.689 ศาลใช้ดุลพินิจไม่ได้)
1.2) กรณีห้างหุ้นส่วนจำกัด ตราบใดห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน เจ้าหนี้ของห้างย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดได้ ม.1095 ส่วนหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด มีความรับผิดเช่นเดียวกับหุ้นส่วนในห้างจดทะเบียน
2. ความรับผิดของบุคคลที่แสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนของห้าง
2.1) บุคคลแสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนด้วยวาจา ลายลักษณ์อักษร กิริยา หรือยินยอมให้ใช้ชื่อตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วน หรือรู้แล้วไม่คัดค้านปล่อยให้เขาแสดงว่าตนเป็นหุ้นส่วน บุคคลนั้นต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนเสมือนเป็นหุ้นส่วน ม.1054 วรรคหนึ่ง
-เป็นความรับผิดเช่นเดียวกับหลักตัวแทนเชิดตามม.821 หรือตามหลักกฎหมายปิดปากมิให้ปฏิเสธต่อบุคคลภายนอกได้ว่าตนเองมิใช่หุ้นส่วน
2.2) กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนและห้างหุ้นส่วนจำกัด ไม่นำม.1054 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับ บุคคลดังกล่าวไม่ต้องรับผิดเสมือนเป้นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด เนื่องจากรายชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนมีการลงทะเบียนตามม.1064(4) , 1078(4) (5) ถือว่ารู้แก่บุคคลทั่วไปแล้วตามม.1022
3. การใช้ชื่อของหุ้นส่วนเป็นชื่อของห้าง
-ผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญ จะถือเอาสิทธิใด ๆ แก่บุคคลภายนอกในกิจการค้าขายซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตนนั้นหาได้ไม่ ม.1043
-ห้ามมิให้เอาชื่อของหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดมาเรียกเป็นชื่อห้าง ม.1081
-ถ้าหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดยินยอมให้ใช้ชื่อของตนเป็นชื่อห้าง หุ้นส่วนคนนั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเสมือนว่าเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด แต่ในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันเองนั้น ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนให้คงบังคับตามสัญญาหุ้นส่วน ม.1082
-ถ้าชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้ว ยังคงใช้เรียกขานติดเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนอยู่ ผู้เป็นหุ้นส่วนนั้นชอบที่จะเรียกให้งดใช้ชื่อของตนเสียได้ ม.1047
-ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนตายไปแล้ว และห้างหุ้นส่วนนั้นยังคงค้าต่อไปในชื่อเดิมของห้าง เหตุเพียงที่คงใช้ชื่อเดิมนั้น หรือใช้ชื่อของหุ้นส่วนผู้ตายควบอยู่ด้วย ก็หาทำให้ความรับผิดมีแก่กองทรัพย์มรดกของผู้ตายเพื่อหนี้อันห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นภายหลังมรณะนั้นไม่ ม.1054 วรรคสอง
4. ความรับผิดของหุ้นส่วนซึ่งได้ออกจากห้าง
-ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้ว ยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไป ม.1051 ดูวันมูลหนี้เกิดเป็นหลัก แม้ต่อมามีเหตุให้หุ้นส่วนต้องลาออกหรือถูกกำจัดจากห้าง ก่อนหนี้ถึงกำหนดชำระ ก็ไม่มีผลให้หลุดพ้นจากหนี้นั้น (ฎ.482/2485) ส่วนอายุความการฟ้องร้องถือตามอายุความของมูลหนี้นั้น
4.1) กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนนั้น ย่อมมีจำกัดเพียง 2 ปี นับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน ม.1068 เป็นระยะเวลาจำกัดความรับผิด ไม่ใช่อายุความ คู่กรณีตกลงเป็นอื่นได้ (ฎ.2613/2523)
4.2) กรณีห้างหุ้นส่วนจำกัด เฉพาะหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด ไม่นำม.1051 มาใช้บังคับ เพราะเจ้าหนี้ไม่อาจฟ้องหุ้นส่วนดังกล่าวได้ ตราบใดที่ห้างยังไม่เลิกกัน ม.1095
5. ความรับผิดของหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด
-ม.1095 "ตราบใดห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้างย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้แต่เมื่อห้างหุ้นส่วนนั้นได้เลิกกันแล้ว เจ้าหนี้ของห้างมีสิทธิฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้เพียงจำนวนดังนี้ คือ
(1) จำนวนลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนเท่าที่ยังค้างส่งแก่ห้างหุ้นส่วน
(2) จำนวนลงหุ้นเท่าที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้ถอนไปจากสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วน
(3) จำนวนเงินปันผลและดอกเบี้ยซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้รับไปแล้วโดยทุจริต และฝ่าฝืนต่อบทมาตรา 1084"
-ฎ.251/2562 ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วจะยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไปตามม.1051 นั้น มุ่งหมายจะใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งหุ้นส่วนทุกคนจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวน จึงไม่อาจนำม.1051 มาใช้บังคับแก่หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดได้
6. ความรับผิดของผู้เข้าเป็นหุ้นส่วนใหม่ในหนี้เดิมของห้าง
-บุคคลผู้เข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วน ย่อมต้องรับผิดในหนี้ใด ๆ ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย ม.1052 ถือว่าสมัครใจเข้ามายอมรับผิดในหนี้เดิมของห้าง
6.2) กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ให้นำม.1052 มาใช้บังคับด้วย
6.3) กรณีห้างหุ้นส่วนจำกัด หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด มีความรับผิดเช่นเดียวกับหุ้นส่วนในห้างจดทะเบียน เฉพาะหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดยังคงรับผิดไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนนั้น ม.1077(1)
7. หนี้เดิมเกิดขึ้นขณะเป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิด ต่อมาจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแล้วต้องรับผิดเพียงใด?
-ฎ.4471/2560 เมื่อปรากฏว่าเดิมห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 มีนาย ธ. เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนจำกัดความรับผิด เมื่อนาย ธ. ตาย จำเลยที่ 2 ได้รับนางสาว ก. เข้ามาเป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิด และจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 จึงยังคงอยู่ การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงผู้เป็นหุ้นส่วนตามที่ตกลงกันสามารถกระทำได้ แม้จำเลยที่ 2 จะเข้ามาเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในภายหลัง ก็ต้องรับผิดในหนี้ใด ๆ ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย ตามม.1052 ประกอบม.1077(2) , 1080 , 1087
8. การโอนหุ้นและการชักนำบุคคลอื่นเข้าเป็นหุ้นส่วนในห้าง
-ห้ามมิให้ชักนำเอาบุคคลอื่นเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนโดยมิได้รับความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนหมดด้วยกันทุกคน เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ม.1040 และการโอนส่วนกำไร (มีผลเป็นการโอนหุ้น) ของตนให้แก่บุคคลภายนอกโดยมิได้รับความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลาย บุคคลภายนอกนั้นหากลายเป็นหุ้นส่วนด้วยไม่ ม.1041
8.2) กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ให้นำม.1040 , 1041 มาใช้บังคบ
8.3) กรณีห้างหุ้นส่วนจำกัด หุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดจะโอนหุ้นของตนปราศจากความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนอื่น ๆ ก็โอนได้ ม.1091 , สำหรับหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด ให้นำหลักเกณฑ์ของห้างจดทะเบียนมาใช้บังคับ (ม.1040 , 1041) การโอนหุ้นและการชักนำบุคคลภายนอกเข้าเป็นหุ้นส่วน จึงต้องได้รับความยินยอมจากหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดทุกคน แต่ไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด
-ฎ.3740/2542 การจำหน่ายเฉพาะส่วนของตนในทรัพย์สินที่นำมาให้ใช้หรือกรรมสิทธิ์รวมของห้างหุ้นส่วนสามัญ ไม่ถือว่าเป็นการชักนำบุคคลอื่นเข้ามาเป็นหุ้นส่วนโดยไม่ได้รับความยินยอมตามม.1040
-ฎ.41/2493 ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียน เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนมีมติให้เลิก ความเป็นหุ้นส่วนก็สิ้นสุดลง ผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมโอนหุ้นของตนได้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากหุ้นส่วนคนอื่น และผู้รับโอนหุ้นมาย่อมเป็นผู้เสียหายในทางอาญา มอบให้บุคคลอื่นฟ้องแทนได้
-การโอนหุ้นระหว่างหุ้นส่วนด้วยกันเอง ไม่อยู่ในบังคับม.1040
9. การเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญ
-ม.1055 "ห้างหุ้นส่วนสามัญย่อมเลิกกันด้วยเหตุดังกล่าวต่อไปนี้(1) ถ้าในสัญญาทำไว้มีกำหนดกรณีอันใดเป็นเหตุที่จะเลิกกัน เมื่อมีกรณีนั้น
(2) ถ้าสัญญาทำไว้เฉพาะกำหนดกาลใด เมื่อสิ้นกำหนดกาลนั้น
(3) ถ้าสัญญาทำไว้เฉพาะเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดแต่อย่างเดียว เมื่อเสร็จการนั้น
(4) เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งให้คำบอกกล่าวแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ตามกำหนดดังบัญญัติไว้ในมาตรา 1056
(5) เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งตาย หรือล้มละลาย หรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ"
9.1) เลิกกันโดยข้อสัญญา ม.1055(1) , (2) , (3)
-ฎ.1038-1039/2523 แม้ไม่มีข้อสัญญากำหนดไว้ แต่เมื่อมีข้อพิพาทระหว่างหุ้นส่วน ก็อาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงเลิกห้างกันได้ จึงไม่อยู่ในบังคับม.1055 , 1056 , 1057
9.2) เลิกกันโดยบทบัญญัติของกฎหมาย ม.1055(4) , (5)
-ม.1060 "ในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งกล่าวไว้ในมาตรา 1055 อนุมาตรา 4 หรือ อนุมาตรา 5 นั้น ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนที่ยังอยู่รับซื้อหุ้นของผู้ที่ออกจากหุ้นส่วนไปไซร้ ท่านว่าสัญญาหุ้นส่วนนั้นก็ยังคงใช้ได้ต่อไปในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนที่ยังอยู่ด้วยกัน"-ฎ.1768/2520 สามีจำเลยหุ้นส่วนผู้จัดการ และโจทก์หุ้นส่วนจำกัดความรับผิดตกลงจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด เมื่อสามีจำเลยตาย มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นจากสามีจำเลยเป็นจำเลย แม้จำเลยไม่ได้ลงหุ้นอีก แต่เข้ามาเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการโดยมีทรัพย์สินของสามีจำเลยในห้าง อันเป็นมรดกตกได้แก่จำเลยเป็นการลงหุ้น
9.3) เลิกกันโดยคำสั่งศาล ม.1057
-หุ้นส่วนจำกัดความรับผิดบอกเลิกห้างได้หรือไม่ ฎ.734/2561 ฟ้องขอเลิกห้างได้
10. การชำระบัญชีห้างหุ้นส่วน
-ฎ.642/2472 ถ้าห้างหุ้นส่วนยังไม่เลิกกิจการ ผู้เป็นหุ้นส่วนจะฟ้องขอแบ่งทุนกำไรโดยไม่ขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนและไม่ชำระบัญชีด้วยไม่ได้
-ลำดับในการชำระบัญชี เป็นไปตามม.1062
-กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด เมื่อเลิกกัน ต้องมีการชำระบัญชีเสมอ ตามม.1247-1273 จะตกลงเลิกกันโดยไม่มีการชำระบัญชีอย่างเช่นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนไม่ได้
***จบการบรรยาย***
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น