สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ กฎหมายตัวแทน ประกันภัย ตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด (ครั้งที่ 1)

สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ
กฎหมายตัวแทน ประกันภัย ตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด (ครั้งที่ 1)
อาจารย์ประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม 2568
**********

1. ในอดีต 20 กว่าปี ข้อสอบออกตั๋วเงิน แต่ปีที่แล้วกรรมการเลือกข้อสอบประกันภัย นักศึกษาไม่ได้อ่าน จึงไม่ค่อยมีคนสอบผ่านข้อนี้ การเรียนเนติบัณฑิตอย่าเก็งข้อสอบ เป็นการเรียนที่ไม่ถูกต้อง 

2. ป.พ.พ. บรรพ 3 ใช้บังคับมาเป็น 100 ปี หลายมาตราไม่มีการแก้ไข กฎหมายตั๋วเงินหลายมาตราเป็นหมัน ไม่มีการใช้ในทางปฏิบัติ อาจารย์จะอธิบายตัวบทที่มีการใช้ มีคดีขึ้นสู่ศาลฎีกา

3. ตั๋วเงินคืออะไร 
-ม.321 วรรคสาม ถ้าชำระหนี้ด้วยออก ด้วยโอน หรือด้วยสลักหลังตั๋วเงินหรือประทวนสินค้า ท่านว่าหนี้นั้นจะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินหรือประทวนสินค้านั้นได้ใช้เงินแล้ว ตั๋วเงินจึงเป็นหนังสือตราสารที่ใช้ในการชำระหนี้อย่างหนึ่ง
-ม.1005 ถ้าตั๋วเงินได้ทำขึ้น หรือได้โอน หรือได้สลักหลังไปแล้วในมูลหนี้อันหนึ่งอันใด ดังนั้น ก่อนที่จะมีมูลหนี้ตั๋วเงิน ก็จะมีมูลหนี้ประธานเกิดขึ้นก่อน 
ถ้ามีการออกตั๋วเงินเพื่อชำระหนี้ แต่เรียกเก็บเงินไม่ได้ เช่น เช็คเด้ง หนี้ประธานก็ยังอยู่ เจ้าหนี้มีสิทธิเลือกฟ้อง จะเลือกฟ้องตามมูลหนี้เดิม (ม.1005 ...ท่านว่าหนี้เดิมนั้นก็ยังคงมีอยู่...) หรือฟ้องมูลหนี้ตามตั๋วเงินก็ได้  ในทางปฏิบัติมักจะเลือกฟ้องมูลหนี้ตามตั๋วเงิน เพราะง่ายในทางนำสืบ ไม่ยืดเยื้อ

3. ม.898 ตั๋วเงินมี 3 ประเภท คือ ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน และเช็ค เท่านั้น ตราสารอื่นนอกจากนี้แม้จะมีวิธีการสลักหรือการโอนคล้ายกับตั๋วเงิน ก็ไม่ใช่ตั๋วเงิน เช่น ใบหุ้น ม.1135 , ใบรับของคลังสินค้า ม.776 , ใบประทวนสินค้า ม.779-781 เหล่านี้ไม่ใช่ตั๋วเงิน

4. ตั๋วแลกเงิน ม.908 คือ หนังสือตราสาร..
ตั๋วสัญญาใช้เงิน ม.982 คือ หนังสือตราสาร..
เช็ค ม.987 คือ หนังสือตราสาร..
หนังสือตราสาร คือเอกสารที่จัดทำขึ้น โดยมีรายการตามที่กฎหมายบัญญัติ ตามที่กฎหมายบังคับไว้

5. ม.908 อันว่าตั๋วแลกเงินนั้น คือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้สั่งจ่าย สั่งบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้จ่าย ให้ใช้เงินจำนวหนึ่งแก่บุคคลคนหนึ่งหรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลคนหนึ่งซึ่งเรียกว่าผู้รับเงิน 
-ตั๋วแลกเงินจึงประกอบด้วยบุคคล 3 ฝ่าย เช่น นาย ก ออกตั๋วแลกเงิน ทำเป็นหนังสือตราสาร มีรายการถูกต้องตาม ม.909 สั่งนาย ข. ให้จ่ายเงิน 300,000 บาท แก่นาย ค. หรือตามคำสั่ง (หรือตามคำสั่งนาย ค.) ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 เมื่อถึงกำหนดวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 คือวันที่ตั๋วแลกเงินฉบับนี้ถึงกำหนดใช้เงิน นาย ค. มีสิทธินำตั๋วไปยื่นให้นาย ข. ใช้เงินตามตั๋ว

6. ม.982 อันว่าตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น คือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ออกตั๋ว ให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือใช้ให้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับเงิน
-ตั๋วสัญญาใช้เงินมีบุคคลเกี่ยวข้อง 2 ฝ่าย คือ ผู้ออกตั๋ว (ห้ามใช้คำสั่งผู้สั่งจ่ายตั๋ว) กับ ผู้รับเงิน เช่น นาย ก. ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญาจะใช้เงิน 300,000 บาท ให้แก่นาย ข. หรือตามคำสั่ง (หรือตามคำสั่งของนาย ข. ผู้รับเงิน) 

7. ม.987 อันว่าเช็คนั้น คือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้สั่งจ่าย สั่งธนาคารให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อทวงถามให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่งอันเรียกว่าผู้รับเงิน
-ตัวผู้สั่งจ่ายกับธนาคาร ต้องมีนิติสัมพันธ์กันมาก่อน จึงจะสั่งธนาคารให้ใช้เงินได้ 
-ต้องสั่งธนาคารเท่านั้น จะสั่งบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นไม่ได้
-ผู้สั่งจ่ายเช็คมีความรับผิดทางแพ่งตามเนื้อความในเช็ค และอาจมีความผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 

8. เมื่อทราบแล้วว่าตั๋วเงินมี 3 ประเภท ต่อไปจะต้องรู้ว่าแบ่งได้กี่ชนิด อันนี้สำคัญ ตั๋วเงินแต่ละชนิดจะมีวิธีการโอน วิธีการพิสูจน์ความเป็นผู้ทรงในแง่กฎหมายแตกต่างกัน ถ้าทำข้อสอบแยกไม่ออกว่าเป็นตั๋วชนิดไหน คำตอบต่อมาอาจผิดไปด้วย 

9. ตั๋วเงิน แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ 
1) ตั๋วระบุชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับเงิน (ตั๋วชนิดระบุชื่อผู้รับเงิน) มีในตั๋วเงินทั้ง 3 ประเภท 
-ม.909 (6) อันตั๋วแลกเงินนั้น ต้องมีรายการดังกล่าวต่อไปนี้ คือ ชื่อ หรือยี่ห้อผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ  
-ม.988 (4) อันเช็คนั้น ต้องมีรายการดังกล่าวต่อไปนี้ คือ ชื่อ หรือยี่ห้องของผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ  
-ม.983 (5) อันว่าตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น ต้องมีรายการดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ ชื่อ หรือยี่ห้อของผู้รับเงิน (ตั๋วสัญญาใช้เงินมีชนิดเดียว ไม่มีชนิดระบุชื่อผู้ถือ)
2) ตั๋วผู้ถือ มีในตั๋วแลกเงิน กับ เช็ค

10. ม.985 ไม่นำบทบัญญัติเรื่องตั๋วผู้ถือ ม.918 , ม.921 ไปใช้กับตั๋วสัญญาใช้เงิน

11. ลักษณะที่สำคัญของตั๋วเงิน 
1) ม.899 ข้อความอันใดซึ่งมิได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะนี้ (ลักษณะ 21 ตั๋วเงิน) ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน ท่านว่าข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่ (ข้อความไม่มีผล แต่ตั๋วเงินใช้บังคับได้ ไม่เสียไป)
-แปลความได้ว่า ข้อความที่จะเขียนลงในตั๋วเงินได้ จะต้องเป็นข้อความที่มีบัญญัติไว้ในกฎหมายตั๋วเงินเท่านั้น ถ้ากฎหมายไม่ได้ให้เขียน แต่คู่สัญญาสมัครใจกันเขียนขึ้น ก็ไม่มีผล (ต่างจากสัญญาทั่วไป ม.151 คู่สัญญาตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้ถ้าไม่ขัดต่อกฎหมายความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันนี้ของประชาชน)
-ตัวอย่าง ผู้สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงิน เขียนข้อความว่าไล่เบี้ยกับตนไม่ได้ ม.985 ไม่ได้นำ ม.915 (1) มาใช้กับตั๋วสัญญาใช้เงิน ข้อความที่เขียนจึงไม่มีผล 
-ม.911 ผู้สั่งจ่ายจะเขียนข้อความกำหนดลงไว้ว่าจำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้นให้คิดดอกเบี้ยด้วยก็ได้ เช่น นาย ก. ออกตั๋วแลกเงิน สั่งนาย ข. จ่ายเงินจำนวน 1 ล้านบาท แก่นาย ค. พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 เมื่อตั๋วแลกเงินถึงกำหนดใช้เงิน ผู้จ่ายต้องจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงิน 1 ล้านบาท ดอกเบี้ยนับแต่วันออกตั๋วจนถึงวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 
-นาย ก. ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญาจะใช้เงิน 1 ล้านบาท ให้แก่นาย ข. พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ม.985 ให้นำม.911 มาใช้กับตั๋วสัญญาใช้เงินด้วย ดังนั้น ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน สามารถเขียนข้อกำหนดดอกเบี้ยลงในตั๋วสัญญาใช้เงินได้
-เรื่องเช็ค ม.989 ไม่นำ ม.911 เรื่องดอกเบี้ย มาใช้กับเรื่องเช็ค ข้อความเรื่องดอกเบี้ยไม่มีผล 

***จบการบรรยาย***

ความคิดเห็น

10 บทความยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

ข้อกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา