สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ กฎหมายตัวแทน ประกันภัย ตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด (ครั้งที่ 7)

สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ
กฎหมายตัวแทน ประกันภัย ตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด (ครั้งที่ 7)
อาจารย์ประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม 2568
**********

1. ผู้รับอาวัล คือบุคคลที่เข้ามาค้ำประกันความรับผิดของลูกหนี้ในตั๋วเงิน
-ความรับผิดของผู้รับอาวัล แตกต่างจากผู้ค้ำประกัน โดยผู้ค้ำประกันเปรียบเสมือนลูกหนี้ชั้นสอง สามารถเกี่ยงให้เจ้าหนี้ไปเรียกร้องเอาจากลูกหนี้ก่อนได้ แต่ผู้รับอาวัลอยู่ในฐานะลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้คนอื่น ๆ ในตั๋วเงินตามม.940 , 967 ซึ่งผู้ทรงตั๋วเงินอาจฟ้องเฉพาะผู้รับอาวัลคนเดียวก็ได้ ไม่ฟ้องลูกหนี้คนอื่น ๆ 
-ม.938 วรรคสอง บุคคลที่จะเป็นผู้รับอาวัลอาจเป็นบุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญาในตั๋วเงินนั้นอยู่แล้วก็ได้

2. วิธีการรับอาวัล (ตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนด)
2.1) ม.939 วรรคหนึ่ง "อันการรับอาวัลย่อมทำให้กันด้วยเขียนลงในตั๋วเงินนั้นเอง หรือที่ใบประจำต่อ" 
2.2) ม.939 วรรคสอง "ในการนี้พึงใช้ถ้อยคำสำนวนว่า "ใช้ได้เป็นอาวัล" หรือสำนวนอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น และลงลายมือชื่อผู้รับอาวัล"
-ฎ.833/2523 ใช้ถ้อยคำว่า "เป็นอาวัลค้ำประกันผู้สั่งจ่าย" เป็นทำนองเดียวกับคำว่า "ใช้ได้เป็นอาวัล" 
-กิจการที่ทำลงในตั๋วเงิน บางเรื่องให้ทำที่ด้านหน้า เช่น ผู้ให้กำเนิดตั๋วเขียนห้ามเปลี่ยนมือ ม.917 วรรคสอง , มีเรื่องเดียวที่ให้ทำด้านหลังคือสลักหลังลอย ม.919 วรรคสอง , บางเรื่องกฎหมายไม่ได้กำหนด จึงอาจเขียนลงด้านหน้าหรือด้านหลังก็ได้ ซึ่งการรับอาวัลกฎหมายไม่ได้กำหนด จึงเขียนลงด้านหน้าหรือด้านหลังตั๋วก็ได้
-ผู้รับอาวัลต้องลงลายมือชื่อด้วย สอดคล้องม.900 วรรคหนึ่ง ลงลายมือชื่อฐานะใด รับผิดฐานะนั้น

3. การรับอาวัล (กฎหมายให้ถือว่าเป็นการรับอาวัล)
3.1) ม.939 วรรคสาม "อนึ่ง เพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลในด้านหน้าแห่งตั๋วเงิน ท่านก็จัดว่าเป็นคำรับอาวัลแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่เป็นลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย"
-ทั้งตั๋วเงินชนิดระบุชื่อผู้รับเงิน และตั๋วชนิดผู้ถือ ถ้าลงลายมือชื่อด้านหน้าตั๋วเงิน โดยไม่ได้เขียนข้อความอะไรเลย กฎหมายให้ถือว่าเป็นคำรับอาวัล ต้องรับผิดอย่างผู้รับอาวัล 
-กฎหมายยกเว้น 2 คน คือ ผู้สั่งจ่ายเพราะตั๋วเงินทุกฉบับต้องมีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายที่ด้านหน้าตั๋วเงินอยู่แล้ว และผู้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงิน เพราะม.931 ตอนท้าย "อนึ่ง แต่เพียงลงลายมือชื่อของผู้จ่ายลงไว้ในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงิน ท่านก็จัดว่าเป็นคำรับรองแล้ว" ผู้จ่ายรับผิดในฐานะผู้รับรอง
-กรณีผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย ประสงค์จะรับอาวัลด้วย จะต้องใช้วิธีที่กฎหมายกำหนด เขียน "ใช้ได้เป็นอาวัล" ตามม.939 วรรคสอง 
3.2) ม.921 "การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย"
-ในทางปฏิบัติเกือบทั้งหมด จะใช้กับเช็คผู้ถือ 
-การสลักหลัง ไม่ว่าก่อนหรือหลังธนาคารปฏิเสธการใช้เงิน ก็เป็นผู้รับอาวัล

4. ม.939 วรรคสี่ "ในคำรับอาวัลต้องระบุว่ารับประกันผู้ใด หากมิได้ระบุ ท่านให้ถือว่ารับประกันผู้สั่งจ่าย"

5. ความรับผิดของผู้รับอาวัล
-ม.940 "ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน"
-ม.940 วรรคหนึ่ง บุคคลที่ผู้รับอาวัลเป็นประกัน มีความรับผิดในตั๋วเงินอย่างไร ผู้รับอาวัลก็มีความรับผิดอย่างนั้น เช่น ผู้รับอาวัลผู้สั่งจ่ายเช็คมีความรับผิดเป็นอย่างเดียวกันกับผู้สั่งจ่ายเช็ค 
-ม.967 วรรคหนึ่ง "ในเรื่องตั๋วแลกเงินนั้น บรรดาบุคคลผู้สั่งจ่ายก็ดี รับรองก็ดี สลักหลังก็ดี หรือรับประกันด้วยอาวัลก็ดี ย่อมต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้ทรง"
-ม.967 วรรคสอง "ผู้ทรงย่อมมีสิทธิว่ากล่าวเอาความแก่บรรดาบุคคลเหล่านี้เรียงตัวหรือรวมกันก็ได้ดยมิพักต้องดำเนินตามลำดับที่คนเหล่านั้นมาต้องผูกพัน"
-ม.967 ใช้กับตั๋วสัญญาใช้เงิน และเช็คด้วย 
-ม.940 วรรคสอง "แม้ถึงว่าความรับผิดใช้เงินอันผู้รับอาวัลได้ประกันอยู่นั้น จะตกเป็นใช้ไม่ได้ด้วยเหตุใด ๆ นอกจากเพราะทำผิดแบบระเบียบ ท่านว่าข้อที่สัญญารับอาวัลนั้นก็ยังคงสมบูรณ์"
  เมื่อผู้รับอาวัลได้ใช้เงินไปตามตั๋วแลกเงินแล้ว ย่อมได้สิทธิในอันจะไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลซึ่งตนได้ประกันไว้ กับทั้งบุคคลทั้งหลายผู้รับผิดแทนตัวผู้นั้น"
-แม้บุคคลที่ถูกรับอาวัลจะไม่ต้องรับผิดตามตั๋วเงิน แต่ข้อสัญญารับอาวัลยังคงสมบูรณ์ ยกเว้นการทำผิดแบบระเบียบในเรื่องตั๋วเงิน เช่น ม.960 ผู้ทรงต้องทำคำคัดค้านภายใน 3 วัน นับแต่ผู้จ่ายไม่จ่ายเงิน + ม.973(2)+ม.973 วรรคสอง ผู้ทรงย่อมสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่เหล่าผู้สลักหลัง ผู้สั่งจ่าย และคู่สัญญาอื่น ๆ ผู้ต้องรับผิด เว้นแต่ผู้รับรอง (ผู้สั่งจ่ายไม่ต้องรับผิด ผู้รับอาวัลผู้สั่งจ่ายก็ไม่ต้องรับผิด)

6. สิทธิไล่เบี้ยของผู้รับอาวัล
-ม.940 วรรคท้าย "เมื่อผู้รับอาวัลได้ใช้เงินไปตามตั๋วแลกเงินแล้ว ย่อมได้สิทธิในอันจะไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลซึ่งตนได้ประกันไว้ กับทั้งบุคคลทั้งหลายผู้รับผิดแทนตัวผู้นั้น"
-ผู้รับอาวัลมีฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมในตั๋วเงิน ต้องร่วมกับลูกหนี้คนอื่น ๆ ในตั๋วเงินรับผิดต่อผู้ทรงซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในตั๋วเงิน เมื่อผู้รับอาวัลรับผิดใช้เงินต่อผู้ทรงไปแล้ว สามารถไล่เบี้ยลูกหนี้คนอื่น ๆ ได้
-กฎหมายธรรมชาติ เช่น ม.880 "ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น"
-จำนวนเงินตามตั๋วเงิน 5 แสน แต่ผู้รับอาวัลมี 3 แสน รับผิดต่อผู้ทรง 3 แสน ผู้รับอาวัลมีสิทธิไล่เบี้ยไหม คำตอบคือ ใช้เงินไปตามตั๋วเงินเท่าไร ไล่เบี้ยได้เท่านั้น ผู้รับอาวัลจึงไล่เบี้ยได้ 3 แสน ระหว่างผู้รับอาวัลกับผู้ถูกรับอาวัลไม่ใช่ลูกหนี้ร่วมที่ต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กันตามม.296 (ฎ.343/2516)

***จบการบรรยาย***

ความคิดเห็น

10 บทความยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (44 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 (20 ข้อ)