สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ กฎหมายตัวแทน ประกันภัย ตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด (ครั้งที่ 6)
สรุปคำบรรยายเนติบัณฑิต 1/78 ภาคค่ำ
กฎหมายตัวแทน ประกันภัย ตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด (ครั้งที่ 6)
อาจารย์ประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน 2568
**********
1. เรื่องดอกเบี้ยในตั๋วเงิน ม.911
-กฎหมายอนุญาตให้ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงิน หรือผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (ไม่ใช้กับเช็ค) เขียนข้อความกำหนดจำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้นให้คิดดอกเบี้ยด้วยก็ได้ เพราะตั๋วทั้ง 2 ประเภท จะมีวันถึงกำหนดใช้เงินได้หลายกรณีตามม.913
-เช่น ก. สั่งจ่ายตั๋วแลกเงิน ลงวันที่วันนี้ 26 มิถุนายน 2568 สั่ง ข. ให้จ่ายเงิน 1,000,000 บาท แก่ ค. ในวันที่ 15 ธันวาคม 2568 จะเห็นได้ว่า ค. ผู้ทรงตั๋วแลกเงินยังไม่ได้รับเงินเพราะยังไม่ถึงกำหนดใช้เงิน ค. จึงเสียเปรียบ กฎหมายจึงกำหนดให้ ก. สามารถเขียนเรื่องดอกเบี้ยลงในตั๋วแลกเงินได้ , และถ้าผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินไม่ได้ระบุในตั๋วว่าดอกเบี้ยให้คิดตั้งแต่เมื่อใด จึงให้คิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ลงในตั๋วเงิน คิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2568 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2568
-ถ้าผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงิน ไม่ได้เขียนข้อกำหนดเรื่องดอกเบี้ยไว้ จึงไม่มีดอกเบี้ย ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินตามตั๋ว ก็จ่ายเฉพาะต้นเงิน , และถ้าถึงกำหนดใช้เงินแล้ว ผู้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินไม่จ่าย ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ยอมใช้เงินตามตั๋ว มีการผิดนัดเกิดขึ้นแล้ว จึงต้องเสียดอกเบี้ยผิดนัดตามม.968 "ผู้ทรงจะเรียกร้องเอาเงินใช้จากบุคคลซึ่งตนใช้สิทธิไล่เบี้ยนั้นก็ได้ คือ ...(2) ดอกเบี้ยอัตราร้อยละห้าต่อปีนับแต่วันถึงกำหนด"
-คำพิพากษาฎีกาในเรื่องนี้ตรงตามตัวบท ไม่ได้พลิกแพลง
2. ปัญหาเรื่องตั๋วเงินที่ขึ้นสู่ศาลฎีกา อาจจะมากที่สุด และใช้ทดสอบความรู้บ่อยครั้งเพราะมีประเด็นหลายเรื่อง คือปัญหาตามม.916 "บุคคลทั้งหลายผู้ถูกฟ้องในมูลตั๋วแลกเงิน หาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือกับผู้ทรงคนก่อน ๆ นั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล"
-เรื่องนี้ใช้กับตั๋วเงินทั้ง 3 ประเภท ตามม.985 , 989
2.1) ม.916 มีหลักการเช่นเดียวกับม.905 วรรคสอง และวรรคสาม คือหลักกฎหมายพิเศษ บุคคลผู้รับโอนตั๋วเงินมาโดยสุจริตจะได้รับความคุ้มครอง แม้จะได้มาจากบุคคลที่ไม่มีสิทธิในตั๋วหรือสิทธิของบุคคลนั้นบกพร่องก็ตาม
-ม.905 เช่น ก.มีชื่อเป็นผู้รับเงินตามเช็ค ถูก ข. ข่มขู่ให้สลักหลังโอนเช็คให้ ก.กลัวจึงสลักหลังโอนเช็คให้ ข. เมื่อ ข. ได้รับเช็คแล้วสลักหลังโอนเช็คชำระหนี้ให้ ค. ซึ่ง ค. รับโอนเช็คโดยสุจริตไม่ได้ประมาทเลินเล่อ ถามว่า ก. ผู้ทรงเช็คเดิมจะมาทวงเช็คคืนจาก ก. ได้หรือไม่ ค. จะต้องสละเช็คหรือไม่ เมื่อเป็นเช็คระบุชื่อผู้รับเงิน หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่ ค.จึงไม่ต้องคืนเช็คให้ ก. และถามต่อไปว่าหาก ค. เอาเช็คไปขึ้นเงิน ธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็ค ถามว่า ค. จะฟ้องผู้สั่งจ่ายเช็ค ก. และ ข. ได้หรือไม่ เช่นนี้ ค. ย่อมฟัองได้ปกติ ก.จะยกข้อต่อสู้ว่าสลักหลังเพราะถูกข่มขู่ไม่ได้ เพราะกฎหมายปิดปากตามม.916 (***คดีส่วนใหญ่ก็จะเป็นประเด็นแบบนี้)
2.2) ไม่ว่าจะเป็นตั๋วเงินชนิดใด ทั้งตั๋วเงินชนิดระบุชื่อผู้รับเงิน และตั๋วผู้ถือ ก็อยู่ในบังคับม.916 ทุกกรณี
2.3) คำว่า "บุคคลทั้งหลายผู้ถูกฟ้องในมูลตั๋วแลกเงิน" ก็คือหลักตามม.900 วรรคหนึ่ง บุคคลทั้งหลายผู้ที่ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงิน เช่น ผู้สั่งจ่าย ผู้ออกตั๋ว ผู้สลักหลัง ผู้รับอาวัล ผู้รับรอง
2.4) คำว่า "ด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือกับผู้ทรงคนก่อน ๆ" เช่น จะยกข้อต่อสู้ว่ามูลหนี้ระงับ หนี้เป็นโมฆะ โมฆียะ ถูกข่มขู่ ฉ้อฉล ซึ่งเป็นข้อต่อสู้ที่บุคคลผู้ถูกฟ้องมีต่อกัน กฎหมายปิดปาก เพราะเป็นเรื่องระหว่างลูกหนี้ด้วยกัน
-ถ้าไม่ใช่ข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างบุคคลผู้ถูกฟ้องด้วยกันเอง กฎหมายไม่ห้าม สามารถยกขึ้นต่อสู้ผู้ทรงได้
-เช่น ข้อต่อสู้ที่ปรากฏในตั๋วเงินนั้นเองม.312+916 ในมูลหนี้อันพึงต้องชำระตามเขาสั่งนั้น ลูกหนี้จะยกข้อต่อสู้ซึ่งมีต่อเจ้าหนี้เดิม ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับโอนโดยสุจริตนั้นหาได้ไม่ เว้นแต่ที่ปรากฏในตัวตราสารนั้นเอง เช่น โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 2 ผู้สลักหลังเช็ค ให้ร่วมรับผิดใช้เงินตามเช็คแก่โจทก์ ถ้าเช็คที่พิพาทมีรายการขาดตกบกพร่องไม่สมบูรณ์เป็นเช็คตามม.988 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงยกข้อต่อสู้ดังกล่าวได้
2.5) ม.916 กฎหมายปิดปาก มียกเว้นข้อเดียว "เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล" หมายถึงผู้ทรงซึ่งเป็นผู้รับการโอนหรือรับสลักหลังตั๋วเงินคบคิดกันฉ้อฉลกับผู้โอนหรือผู้สลักหลัง รับโอนโดยไม่สุจริตหรือรู้อยู่แล้วถึงความบกพร่องของบุคคลที่โอนตั๋วเงินแต่ก็ยังรับโอนตั๋วเงินนั้น (หรือผู้ทรงไม่สุจริตนั่นเอง)
-ฎ.1545/2524 แม้จำเลยจะสั่งจ่ายเช็คพิพาทโดยมีมูลหนี้จากการเล่นการพนันสลากกินรวบ จำเลยจะยกเหตุดังกล่าวซึ่งเป็นความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างจำเลยผู้สั่งจ่ายกับผู้ทรงคนก่อนมาเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงไม่ได้ตามม.916 ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าเช็คพิพาทมีมูลหนี้จากการอันมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ (ฎ.3710/2535)
-การคบคิดกันฉ้อฉล จะดูตอนไหน ขณะใด? ตัวอย่าง ก.สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้าเพื่อชำระหนี้พนันแก่ ข. ต่อมา ข. สลักหลังโอนเช็คให้ ค. โดย ค. สุจริตไม่ได้ประมาทเลินเล่อ ต่อมา ก.ทราบว่าเช็คอยู่ที่ ค. จึงบอก ค. ว่าเช็คฉบับนี้มีมูลหนี้ผิดกฎหมาย
--ถ้าถามว่า ค. ต้องคืนเช็คแก่ ก.หรือไม่ ก็ตอบม.905 วรรคสอง
--ถ้าถามว่า ค. ไม่คืนเช็ค แล้วต่อมาเช็คเด้ง ค.จะฟ้อง ก. ได้หรือไม่ และ ก. จะต่อสู้ว่า ค.รู้แล้วว่ามูลหนี้ผิดกฎหมายแล้วยังนำเช็คไปขึ้นเงิน เป็นการคบคิดกันฉ้อฉลได้หรือไม่ ก็ตอบว่าฟ้องได้ และการคบคิดกันฉ้อฉลต้องดูขณะที่รับโอนเช็ค เมื่อขณะรับโอนเช็ค ค.สุจริต จึงได้รับความคุ้มครอง ก.จึงยกขึ้นต่อสู้ไม่ได้ (ฎ.467/2532 , 4279/2536 , 14924/2555 การคบคิดกันฉ้อฉลต้องทำขณะรับโอนตั๋วเงินเท่านั้น ถ้าข้อสอบถามเรื่องนี้ เหตุผลในการตอบและคะแนนก็จะอยู่ตรงนี้)
3. บุคคลที่จะถูกฟ้องให้รับผิด เป็นไปตามม.900 วรรคหนึ่ง , บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงิน ย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น ซึ่งจะรับผิดฐานะใดก็ขึ้นอยู่กับว่าได้ลงลายมือชื่อในตั๋วเงินฐานะใด
4. ผู้รับอาวัล ม.938-940 เป็นหลัก และนำไปใช้กับตั๋วสัญญาใช้เงินและเช็คด้วย ดังนั้น ลูกหนี้ในตั๋วเงินในฐานะผู้รับอาวัล จึงมีได้ในตั๋วเงินทั้ง 3 ประเภท
-ม.938 วรรคหนึ่ง "ตั๋วแลกเงินจะมีผู้ค้ำประกันรับประกันการใช้เงินทั้งจำนวนหรือแต่บางส่วนก็ได้ ซึ่งท่านเรียกว่า "อาวัล""
-ผู้ค้ำประกันกับผู้รับอาวัลแตกต่างกัน ผู้ค้ำประกันตามม.680 ซึ่งใช้กับสัญญาทั่วไป แต่ในเรื่องตั๋วเงินบุคคลที่มีลักษณะคล้ายผู้ค้ำประกัน จะเรียกว่าผู้รับอาวัล มีความคล้ายกัน แต่ฐานะทางกฎหมายไม่เหมือนกัน
-ผู้รับอาวัลคือบุคคลที่เข้ามาค้ำประกันรับประกันความรับผิดของลูกหนี้ในตั๋วเงิน
-เช่น ก.สั่งจ่ายลงวันที่ล่วงหน้า นำเช็คมาขายลดแก่ ข. ซึ่ง ข. อาจไม่เชื่อถือเครดิตของ ก. จึงขอให้ ก. หาคนมารับประกัน ก. อาจให้นายหนึ่งซึ่งมีความน่าเชื่อถือทางการเงินมาเป็นผู้รับอาวัล จึงเรียกนายหนึ่งว่าผู้รับอาวัล
-ม.938 อนุญาตให้ผู้รับอาวัลเขียนข้อความจำกัดความรับผิดลงในตั๋วเงินได้
-ม.900 วรรคหนึ่ง ถ้าผู้รับอาวัลไม่ได้ระบุจำนวนความรับผิดไว้ ก็ต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงิน , แต่ถ้ารับอาวัลเพียงบางส่วน ก็เป็นไปตามที่ระบุไว้
-บุคคลที่จะมาเป็นผู้รับอาวัลต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ม.938 วรรคสอง "อันอาวัลนั้นบุคคลภายนอกคนใดคนหนึ่งจะเป็นผู้รับ หรือแม้คู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้รับก็ได้" ลูกหนี้ตามตั๋วเงินก็สามารถผูกพันตนเป็นผู้รับอาวัลอีกฐานะหนึ่งก็ได้ สรุปบุคคลใดก็เป็นผู้รับอาวัลได้ (ถ้าเป็นสัญญาค้ำประกันตามม.680 ผู้ค้ำประกันต้องเป็นบุคคลภายนอก ลูกหนี้ชั้นต้นเป็นผู้ค้ำประกันไม่ได้)
***จบการบรรยาย***
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น