นำหนี้ตามคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดแล้ว มาฟ้องล้มละลาย ไม่ใช่การบังคับคดี (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5119/2549)

โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดแล้ว มาเป็นมูลฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย มิใช่เรื่องการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาการบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ 

แต่เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ล้มละลาย โดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัด... ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาที่ถึงที่สุด มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 

ดังนั้น เมื่อศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำพิพากษาดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2538 โดยคู่ความมิได้อุทธรณ์คดีดังกล่าวจึงถึงที่สุดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2538 โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองล้มละลายเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 จึงอยู่ภายใต้กำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด โจทก์มีสิทธินำหนี้ตามคำพิพากษานั้น มาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองล้มละลายได้ 

เมื่อปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท และปรากฏว่าก่อนฟ้องคดีนี้จำเลยทั้งสองถูกยึดทรัพย์จำนองและนำออกขายทอดตลาดแล้วตามหมายบังคับคดี แต่ได้เงินไม่พอชำระหนี้ ทั้งปรากฏว่าจำเลยทั้งสองไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้อีก กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 (5) ว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยทั้งสองมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่จำเลยทั้งสองขาดนัดพิจารณา ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามฟ้อง

ที่มา
- ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
  มาตรา 193/32 "สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุด หรือโดยสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้มีกำหนดอายุความสิบปี ทั้งนี้ ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องเดิมจะมีกำหนดอายุความเท่าใด"

พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 
  มาตรา 8 "ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
  (1) ถ้าลูกหนี้โอนทรัพย์สินหรือสิทธิจัดการทรัพย์สินของตนให้แก่บุคคลอื่นเพื่อประโยชน์แห่งเจ้าหนี้ทั้งหลายของตน ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร
  (2) ถ้าลูกหนี้โอนหรือส่งมอบทรัพย์สินของตนไปโดยการแสดงเจตนาลวง หรือโดยการฉ้อฉล ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร
  (3) ถ้าลูกหนี้โอนทรัพย์สินของตนหรือก่อให้เกิดทรัพยสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นเหนือทรัพย์สินนั้น ซึ่งถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะต้องถือว่าเป็นการให้เปรียบ ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร
  (4) ถ้าลูกหนี้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ เพื่อประวิงการชำระหนี้หรือมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้
    ก. ออกไปเสียนอกราชอาณาจักร หรือได้ออกไปก่อนแล้วและคงอยู่นอกราชอาณาจักร
    ข. ไปเสียจากเคหสถานที่เคยอยู่ หรือซ่อนตัวอยู่ในเคหสถาน หรือหลบไป โดยวิธีอื่น หรือปิดสถานที่ประกอบธุรกิจ
    ค. ยักย้ายทรัพย์ไปให้พ้นอำนาจศาล
    ง. ยอมตนให้ต้องคำพิพากษาซึ่งบังคับให้ชำระเงินซึ่งตนไม่ควรต้องชำระ
  (5) ถ้าลูกหนี้ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี หรือไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้
  (6) ถ้าลูกหนี้แถลงต่อศาลในคดีใด ๆ ว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้
  (7) ถ้าลูกหนี้แจ้งให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดของตนทราบว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้
  (8) ถ้าลูกหนี้เสนอคำขอประนอมหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป
  (9) ถ้าลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และลูกหนี้ไม่ชำระหนี้"
  มาตรา 9 "เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ
  (1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
  (2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท และ
  (3) หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566