ธรรมนูญสภานิติศึกษา


          จำเดิมแต่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงก่อตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นในกระทรวงยุติธรรม อันนับเป็นการกำเนิดนิติศึกษาสมัยขึ้นในประเทศสยามขณะนั้น และได้มีความเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ กระทั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้ง “สภานิติศึกษา” ขึ้นเป็นสภาที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมมาตรฐานวิชาชีพกฎหมาย ถือเป็นองค์กรวิชาชีพแห่งแรกของไทย แม้ว่าต่อมาสภานิติศึกษาเดิมจะได้ยุบเลิกไปในปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

          โดยความมุ่งหมายที่จะประดิษฐานสภาอันประกอบด้วยคณบดีคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยทุกแห่งที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก ทำหน้าที่ร่วมกันสนับสนุน ผลักดัน และส่งเสริมการผลิตนักนิติศาสตร์ที่มีความรู้ มีคุณธรรม มีจริยธรรมในวิชาชีพ อีกทั้งทำหน้าที่ประสานงานกับองค์กรวิชาชีพกฎหมาย หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลการอุดมศึกษา และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นิติศึกษาในประเทศไทยมีคุณภาพและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในพุทธศักราช 2540 คณบดีคณะนิติศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้พร้อมกันจัดตั้งสภานิติศึกษาขึ้นใหม่อีกคำรบหนึ่ง

          บัดนี้ ด้วยการศึกษานิติศาสตร์ในประเทศไทยได้ขยายตัวขึ้นมีคณะนิติศาสตร์เพิ่มเติมขึ้นหลายแห่ง โดยฉันทานุมัติของสมาชิกก่อตั้งทั้งสี่แห่งจึงได้ประกาศธรรมนูญของสภานิติศึกษาขึ้นไว้ ดังนี้

บทบาทสภานิติศึกษา

          สภานิติศึกษาเป็นองค์กรสนับสนุน ส่งเสริม สร้างความร่วมมือ และประสานงานทางวิชาการ ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาที่มีการจัดการศึกษาวิชานิติศาสตร์

วัตถุประสงค์
          1. เป็นศูนย์รวมของสถาบันอุดมศึกษาที่มีการจัดการศึกษาวิชานิติศาสตร์ เพื่อวางมาตรฐาน พัฒนาและส่งเสริมการศึกษาวิชานิติศาสตร์ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
          2. ส่งเสริมบทบาทและความสำคัญของวิชานิติศาสตร์ในชั้นอุดมศึกษา
          3. ส่งเสริมและสนับสนุนให้คณาจารย์และนักวิชาการทางนิติศาสตร์มีสถานภาพและบทบาทที่ถูกต้องเป็นที่ยอมรับ
          4. ส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมของคณาจารย์ นักวิชาการ บัณฑิต นิสิต และนักศึกษาทางนิติศาสตร์
          5. ประสานความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาที่มีการจัดการศึกษาวิชานิติศาสตร์
          6. พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสภานิติศึกษากับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

ขอบเขตการดำเนินการของสภานิติศึกษา
          1. วางกรอบมาตรฐานการจัดการศึกษาวิชานิติศาสตร์ ให้มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับ
          2. เสนอกรอบคุณธรรมและจริยธรรมของคณาจารย์ นักวิชาการ บัณฑิต นิสิต และนักศึกษาทางนิติศาสตร์
          3. เสนอแนะแนวทางในการพัฒนาและสร้างสรรค์กิจกรรมที่จะช่วยส่งเสริมการศึกษาวิชานิติศาสตร์
          4. ส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพของคณาจารย์นักวิชาการ บัณฑิต นิสิต และนักศึกษาทางนิติศาสตร์
          5. ประสานความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาที่มีการจัดการศึกษาวิชานิติศาสตร์ในกิจการต่างๆ และระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับหน่วยงานภายนอก
          6. เป็นสื่อกลางประชาสัมพันธ์กิจกรรมของสถาบันอุดมศึกษาที่มีการจัดการศึกษาวิชานิติศาสตร์
          7. เป็นศูนย์กลางสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคณาจารย์ผู้สอนวิชานิติศาสตร์

การเป็นสมาชิก
สมาชิกก่อตั้ง ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

สมาชิกสามัญ ได้แก่ คณะนิติศาสตร์หรือหน่วยงานที่จัดการเรียนการสอนและมีการให้ปริญญาด้านนิติศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชนที่แสดงความจำนงเข้าร่วมเป็นสมาชิก

สมาชิกสมทบ ได้แก่ อาจารย์ประจำของสมาชิกก่อตั้งหรือสมาชิกสามัญ โดยไม่ต้องเสียค่าบำรุงสภานิติศึกษา

---------




#นักเรียนกฎหมาย
12 สิงหาคม 2561

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 2)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)